การข้ามโอฆะ [โอฆตรณสูตร]

 
JANYAPINPARD
วันที่  18 มี.ค. 2552
หมายเลข  11657
อ่าน  3,865

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 2

โอฆตรณสูตร ว่าด้วยการข้ามโอฆะ

[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้วเทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณะงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. [๒] เทวดานั้น ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ข้ามโอฆะได้อย่างไร. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ท่านผู้มีอายุ เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามโอฆะได้แล้ว. ท. ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ก็พระองค์ไม่พักไม่เพียร ข้ามโอฆะ ได้อย่างไรเล่า. พ. ท่านผู้มีอายุ เมื่อใด เรายังพักอยู่ เมื่อนั้น เรายังจมอยู่โดยแท้เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้น เรายังลอยอยู่โดยแท้ ท่านผู้มีอายุ เราไม่พักเราไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้แล. เทวดานั้นกล่าวคาถานี้ว่า นานหนอ ข้าพเจ้าจึงจะเห็นขีณาสว พราหมณ์ผู้ดับรอบแล้ว ไม่พัก ไม่เพียรอยู่ ข้ามตัณหาเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในโลก.

ข้อความอธิบายจากอรรถกถาบางส่วนหนึ่ง บทว่า อตริ อธิบายว่า เทวบุตรนั้น ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระองค์ข้ามโอฆะแม้ทั้ง ๔ นี้ด้วย อย่างไรหนอ ดังนี้. ลำดับนั้น พระ-ผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงวิสัชนาปัญหาของเทวดานั้น จึง ตรัสคำ เป็นต้น ว่า อปฺปติฏฐํ ขฺวาหํ แปลว่า เราไม่พักอยู่เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปติฏฐํ แก้เป็น อปฺปติฏฺฐหนฺโต แปลว่าไม่พักอยู่. บทว่า อนายูหํ แก้เป็น อนายูหนฺโต แปลว่า ไม่เพียรอยู่คือ ไม่พยายามอยู่. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปัญหากระทำให้เป็นคำอันลี้ลับปิดบังแล้ว ด้วยประการฉะนี้. แม้เทวบุตรนั้นก็ได้เป็นผู้มีมานะอันพระองค์นำออกแล้ว และเทศนานั้นพึงทราบโดยคำถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไป เพราะความที่เธอเป็นผู้มีมานะอันพระองค์นำออกแล้วนั่นแหละ ทั้งเนื้อความนี้ก็ได้เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ถามปัญหา เทวบุตรทูลถามว่า ข้าแด่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็พระองค์ไม่พักไม่เพียรข้ามโอฆะได้อย่างไรเล่า ข้าพระองค์จะทราบได้โดยประการใด ขอพระองค์จงตรัสบอกแก่ข้าพระองค์โดยประการนั้นเถิด ดังนี้. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสตอบปัญหาแก่เทวบุตรนั้นจึงตรัสว่า ยทา สฺวาหํ เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทา สฺวาหํแก้เป็น ยสฺมึ กาเล อหํ (แปลว่าในกาลใดเรา) . สุอักษร เป็นเพียงนิบาต.ก็สุอักษรในที่นี้ฉันใด ในบททั้งปวงก็ฉันนั้น. บทว่า สํสีทามิ ความว่า เมื่อเราไม่ข้ามก็จมอยู่ในที่นั้นนั่นแหละ. บทว่า นิพฺพุยฺหามิ ความว่า เมื่อเราไม่อาจเพื่อดำรงอยู่ ก็ย่อมเป็นไปล่วงปัญหาแม้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วอย่างนี้ ว่า เราไม่พักไม่เพียรข้ามโอฆะได้แล้ว ดังนี้ แม้จะเป็นปัญหาอันเทวดาทราบแล้ว แต่ก็ไม่แจ่มแจ้ง เพราะเห็นโทษคือความไม่เข้าใจในเพราะการหยุดอยู่และในความพยายามเพื่อกระทำอรรถนั้นให้ปรากฏ ท่านจึงแสดงธรรมอันเป็นหมวดทุกะ ๗ หมวด. จริงอยู่ ว่าด้วยอำนาจกิเลส เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม.ว่าด้วยอำนาจอภิสังขาร เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่า ย่อมลอย. อีกอย่างหนึ่งว่าด้วยตัณหาและทิฏฐิ เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม. ว่าด้วยอำนาจแห่งกิเลสที่เหลือและอภิสังขารทั้งหลาย เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่า ย่อมลอย. อีกอย่างหนึ่ง ว่าด้วยอำนาจแห่งตัณหา เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม. ว่าด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่า ย่อมลอย. อีกอย่างหนึ่งว่าด้วยสัสสตทิฏฐิ เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม. ว่าด้วยอุจเฉททิฏฐิเมื่อบุคคลเพียรชื่อว่า ย่อมลอย เพราะว่าภวทิฏฐิ ยึดมั่นในมานะอันเฉื่อยชาแต่วิภวทิฏฐิยึดมั่นในการแล่นเลยไป. อีกอย่างหนึ่ง ว่าด้วยอำนาจการติด (ลินะ) เมื่อพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม. ว่าด้วยอำนาจอุทธัจจะ เมื่อเพียร ชื่อว่าย่อมลอย. อนึ่ง ว่าด้วยกามสุขัลลิกานุโยค เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม.ว่าด้วยอัตตกิลมถานุโยค เมื่อเพียรชื่อว่า ย่อมลอย. ว่าด้วยอำนาจแห่งอกุสลาภิสังขารทั้งหมด เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่า ย่อมจม. ว่าด้วยอำนาจแห่งกุสลาภิสังขารอันเป็นโลกีย์ทั้งหมด เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่า ย่อมลอย. เทวดาฟังวิสัชนาปัญหานี้แล้วดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นผู้ยินดีแล้ว เลื่อมใสแล้ว ประกาศอยู่ซึ่งความยินดีและความเสื่อมใสของตนแล้ว จึงกล่าวคำเป็นคาถาว่า จิรสฺสํ วต เป็นต้น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 20 มี.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เซจาน้อย
วันที่ 23 ม.ค. 2554
ขออนุโมทนาครับ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ