จงพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ [จูฬนิทเทส]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้าที่ 389
คำว่า จงพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ความว่า บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยสามารถความกำหนดว่าไม่เป็นไปในอำนาจ ๑ ด้วยสามารถพิจารณาเห็นสังขารโดยเป็นของว่างเปล่า ๑. บุคคลย่อมพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ ด้วยสามารถการกำหนดว่า ไม่เป็นไปในอำนาจ อย่างไร. ใครๆ ย่อมไม่ได้อำนาจในรูปในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ. สมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และจะพึงได้ในรูปว่า ขอรูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลายแต่เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และย่อมไม่ได้ในรูปว่า ขอรูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราจงอย่าได้เป็นอย่างนี้เลยเวทนาเป็นอนัตตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเวทนานี้จักเป็นอนัตตาแล้วไซร้ เวทนานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และพึงได้ในเวทนาว่า ขอเวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้ เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย ฯลฯ