เจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาคู่กันเป็นอย่างไร [อรรถกถายุคนัทธสูตร]
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 403
อรรถกถายุคนัทธสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในยุคนัทธสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สมถปุพฺพงฺคมํ ได้แก่ ทำสมถะไปเบื้องหน้า คือ ให้เป็นปุเรจาริก
บทว่า มคฺโค สญฺชายติ ได้แก่ โลกุตรมรรคที่ ๑ ย่อมเกิดขึ้น
บทว่า โส ตํ มคฺคํ ความว่า ชื่อว่า อาเสวนะ เป็นต้น ไม่มีแก่มรรคอันเป็นไปในขณะจิตเดียว แต่เมือยังมรรคที่ ๒ ให้เกิดขึ้น ท่านกล่าวว่า เธอส้องเสพเจริญทำให้มากซึ่งมรรคนั้นนั่นแล.
บทว่า วิปสฺสนา ปุพฺพงฺคมํ ได้แก่ ทำวิปัสสนาไปเบื้องหน้า คือ ให้เป็นปุเรจาริก
บทว่า สมถํ ภาเวติ ความว่า โดยปกติผู้ได้วิปัสสนาตั้งอยู่ในวิปัสสนา ย่อมยังสมาธิให้เกิดขึ้น.
บทว่า ยุคนทฺธํ ภเวติ ได้แก่ เจริญทำให้เป็นคู่ติดกันไป ในข้อนั้น ภิกษุไม่สามารถจะใช้จิตดวงนั้นเข้าสมาบัติ แล้วใช้จิตดวงนั้นนั่นแลพิจารณาสังขารได้ แต่ภิกษุนี้เข้าสมาบัติเพียงใด ย่อมพิจารณาสังขารเพียงนั้น พิจารณาสังขารเพียงใด ย่อมเข้าสมาบัติเพียงนั้น. ถามว่า อย่างไร ตอบว่า ภิกษุเข้าปฐมฌาน ครั้นออกจากปฐมฌานแล้ว พิจารณาสังขารทั้งหลายครั้น พิจารณาสังขารทั้งหลายแล้ว เข้าทุติยฌาน ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ครั้นออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว พิจารณาสังขารทั้งหลาย ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนี้ชื่อว่าเจริญปฐมวิปัสสนาให้เป็นคู่ติดกันไป