กรรมเก่าและกรรมใหม่ [กรรมสูตร]

 
JANYAPINPARD
วันที่  19 มี.ค. 2552
หมายเลข  11684
อ่าน  2,617

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 275

๑. กรรมสูตร

ว่าด้วยกรรมเก่าและกรรมใหม่

[๒๒๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงกรรมทั้งใหม่และเก่า ความดับแห่งกรรม และปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งกรรม ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมเก่าเป็นไฉน. จักษุอันบัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า อันปัจจัยทั้งหลายปรุงแต่งแล้ว สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอันบัณฑิต พึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า กรรมเก่า.

[๒๒๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมใหม่เป็นไฉน. กรรมที่บุคคลทำด้วย กาย วาจา ใจ ในบัดนี้ นี้เราเรียกว่า กรรมใหม่.

[๒๒๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ความดับแห่งกรรมเป็นไฉน. นิโรธที่ถูกต้องวิมุตติ เพราะความดับแห่งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม นี้เราเรียกว่า ความดับแห่งกรรม.

[๒๓๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งกรรมเป็นไฉน. อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑สัมมาสมาธิ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งกรรม.

[๒๓๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรมเก่า กรรมใหม่ ความดับแห่งกรรม และ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับกรรม เราได้แสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลายด้วยประการดังนี้แล กิจใดแล อันเราผู้ศาสดา ผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลผู้อนุเคราะห์แก่สาวกทั้งหลาย พึงทำ กิจนั้นเราทำแล้ว เพราะอาศัยความอนุเคราะห์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่างเปล่า เธอทั้งหลายจงพยายาม อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนใจในภายหลัง นี้เป็นอนุศาสนีของเราสำหรับเธอทั้งหลาย.

จบ กรรมสูตรที่ ๑

นวปุราณวรรคที่ ๕

อรรถกถากรรมสูตรที่ ๑

นวปุราณวรรค

กรรมสูตรที่ ๑

มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ . บทว่า นวปุราณานิ แปลว่า ใหม่ และ เก่า. บทว่า จกฺขุภิกฺขเว ปุราณกมฺม ความว่า จักษุ ไม่เป็นของเก่า. กรรมต่างหากเป็นของเก่า. แต่ท่านกล่าวอย่างนั้น ตามชื่อแห่งปัจจัยเพราะเกิดแต่กรรม. บทว่า อภิสงฺขต ความว่า อันปัจจัยประชุมปรุงแต่งขึ้น. บทว่า อภิสญฺเจตยิตํ ได้แก่ สำเร็จด้วยเจตนา. บทว่า เวทนิย ทฏฺฐพฺพ ความว่า พึงเห็นว่า เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา. บทว่า นิโรธา วิมุตฺตึ ผุสติ ความว่า นิโรธย่อมถูกต้องวิมุตติ เพราะกรรม ๓ อย่างนี้ ดับไป. บทว่า อย วุจฺจติ ความว่า นิโรธความดับ อันเป็นอารมณ์แห่งวิมุตตินั้น ท่านเรียกว่า กรรมนิโรธดับกรรม. ดังนั้น จึงตรัสวิปัสสนาอันเป็นบุพภาคส่วนเบื้องต้น ไว้ในพระสูตรนี้

จบ อรรถกถากรรมสูตรที่ ๑

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ส.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ