ทำกาละ?

 
ธีรวุฒิ
วันที่  21 มี.ค. 2552
หมายเลข  11711
อ่าน  7,521
บางส่วนจาก๘. วิสาขาสูตร ว่าด้วยรักมีเท่าไรทุกข์ก็มีเท่านั้น

[๑๗๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ บุพพารามปราสาทของ

นางวิสาขามิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล หลานของนาง

วิสาขามิคารมารดาเป็นที่รักที่พอใจ ทำกาละลง ครั้งนั้น นางวิสาขามิคาร-

มารดามีผ้าเปียก ผมเปียก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับในเวลา

เที่ยง ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้

ตรัสกะนางวิสาขามิคารมารดาว่า เชิญเถิดนางวิสาขา ท่านมาแต่ไหนหนอ

มีผ้าเปียก มีผมเปียก เข้ามา ณ ที่นี้ในเวลาเที่ยง นางวิสาขากราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หลานของหม่อมฉัน เป็นที่รักที่พอใจ ทำกาละ

เสียแล้ว เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงมีผ้าเปียก มีผมเปียก เข้ามา ณ ที่นี้ใน

เวลาเที่ยง เจ้าค่ะ.

เรียนถามว่า คำว่า ทำกาละ หมายถึงอะไรเหรอครับ?

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 22 มี.ค. 2552

ทำกาละ หรือกาลกิริยา หรือมรณะ ภาษาไทยหมายถึง การตาย ความตาย การเปลี่ยนภพชาติ เปลี่ยนความเป็นบุคคลหนึ่งเป็นอีกคนหนึ่ง ชาติใหม่..

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ati
วันที่ 22 มี.ค. 2552
ขอถามต่อนะครับ เหตุใดท่านผู้เป็นโสดาบันที่ไม่เห็นผิดแล้ว จึงเสียใจกับการตายของบุคคลอันเป็นที่รัก และที่ท่านเสียใจนั้นท่านเสียใจในตัวตนของบุคคนอันเป็นที่รัก ใช่หรือไม่ครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 22 มี.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า กระทำกาละ (กาลกิริยา) เป็นอีกคำหนึ่งที่หมายถึง ความตาย แปลตามศัพท์หมายถึงสิ่งที่กระทำซึ่งที่สุดแห่งอัตภาพ,สิ่งที่ทำให้ชีวิตของเหล่าสัตว์สิ้นไป นอกจากคำว่า กระทำกาละ ที่หมายถึง ความตายแล้ว ยังมีอีกหลายคำที่หมายถึง ความตายเช่น จุติ ความเคลื่อนไป ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความแตก-แห่งขันธ์ ความทิ้งซากศพไว้ ความขาดไปแห่งชีวิตินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย ความตาย นั้นเป็นจิตขณะสุดท้ายที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้อย่างเด็ดขาด ไม่สามารถที่จะกลับมาเป็นบุคคลนี้ได้อีกเลย จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป เมื่อยังมีกิเลสอยู่ยังต้องเกิดอยู่ร่ำไป สิ่งที่จะเป็นที่พี่งได้อย่างแท้จริงในชีวิตนั้น ก็คือความเข้าใจพระธรรม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 22 มี.ค. 2552

โลกถูกมัจจุกำจัด ถูกชราล้อมไว้ ถูกลูกศรคือตัณหาเสียบไว้

ถูกความอยากเผาให้ร้อนตลอดกาลทุกเมื่อ

(ผู้ที่ประมาทก็จะหลงทำกาละทุคติอยู่เบื้องหน้าค่ะ)

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
สุภาพร
วันที่ 23 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ajarnkruo
วันที่ 23 มี.ค. 2552

อ้างอิงจาก : หัวข้อ 11711 ความคิดเห็นที่ 2 โดย ati ขอถามต่อนะครับ เหตุใดท่านผู้เป็นโสดาบันที่ไม่เห็นผิดแล้ว จึงเสียใจกับการตายของบุคคลอันเป็นที่รัก และที่ท่านเสียใจนั้นท่านเสียใจในตัวตนของบุคคนอันเป็นที่รัก ใช่หรือไม่ครับ


พระโสดาบันดับความเห็นผิดทั้งหมดเป็นสมุจเฉทแล้วก็จริง แต่ปัญญาของท่านยังไม่เพียงพอที่จะดับโลภะที่ติดข้องในกามคุณได้ ท่านจึงยังคงละความยินดีในสิ่งอันเป็นที่รักไม่ได้ เมื่อยังละไม่ได้ โลภะที่สะสมไว้ ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความโศกความโทมนัส เมื่อต้องพลัดพรากจากสิ่งๆ นั้นเป็นธรรมดา แต่ถึงจะดีใจ เสียใจอย่างไร ผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ก็จะไม่มีความเห็นผิดเกิดอีกเลย เพราะปัญญาของพระโสดาบัน มีความรู้ชัด เห็นถูกว่า สิ่งที่เกิดปรากฏทุกๆ ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ที่เสียใจก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เกิดเพราะยังมีเหตุปัจจัยให้ต้องเสียใจ ความเสียใจที่เกิดนั้น เกิดตามอำนาจของอกุศลที่สะสมไว้และยังไม่ได้ดับ แต่ปัญญาของพระโสดาบันเห็นถูกโดยตลอด ชัดเจน และไม่คลาดเคลื่อน เพราะไม่เหลือพืชเชื้อของความเห็นผิดให้ท่านหลงยึดถือนามธรรมที่เสียใจนั้นว่า เป็นท่าน เป็นตัวตน หรือว่าเป็นเพราะใครทำให้ท่านเสียใจอีก ขณะที่จิตของพระโสดาบัน คิดถึงบุคคลอันเป็นที่รักด้วยความเศร้าโศก เสียใจขณะนั้นปัญญาของท่านก็รู้ว่า บุคคลนั้นไม่มีจริง แต่มีสัญญาที่จำได้ว่าเป็นใคร ตามความเป็นไปของจิตที่จะต้องมีการคิดถึงบัญญัติ ไม่มีใครจะสามารถห้ามความคิดนึกได้ เพราะความคิดเป็นธรรมะ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แม้ท่านจะเป็นถึงพระอริยเจ้าก็ตาม ท่านก็ห้ามความคิดไม่ได้ แต่ปัญญาของท่านรู้ชัดว่าขณะที่กำลังคิดนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมอย่างหนึ่ง ที่กำลังตรึก นึกไปด้วยอำนาจของกุศลธรรมบ้างหรืออกุศลธรรมบ้าง ผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ยังมีการคิดที่เป็นไปตามอำนาจของอกุศลธรรม ซึ่งท่านก็รู้ว่าท่านยังจะต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไป จนกว่าท่านจะบรรลุเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ จึงจะสามารถดับอกุศลที่ยังไม่ได้ดับเหล่านั้นเป็นสมุจเฉทได้ทั้งหมดตามลำดับขั้นครับ ว่าแต่ขณะนี้ ที่กำลังปุถุชนอย่างนี้ ความยึดถือว่าเป็นตัวตน ยังมีอยู่มากไหม?

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 23 มี.ค. 2552

ตอนที่พระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพาน พระอานนท์ร้องไห้ ตอนนั้นท่านเป็นพระโสดาบันค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
booms
วันที่ 23 มี.ค. 2552

จากความคิดเห็นที่2 คุณati....

ความเสียใจกับ การตายของบุคคลอันเป็น ที่รัก ความเสียใจนี้เป็นโทสมูลจิต สัมปยุตต์ด้วย โทมนัสเวทนาเจตสิก โดยโทสมูลจิตจะ ดับได้เป็นสมุจเฉทปหาน ต้องเป็นในระดับ ขั้น พระอนาคามีบุคคล ขึ้นไป......ท่านผู้เป็นพระโสดาบันบุคคล จึงยังคงมี โทสมูลจิต ยังคงมีความเสียใจกับ สิ่งที่รักอยู่ แต่ที่ท่านเสียใจนั้น ท่านมีสติระลึกรู้ พร้อม ปัญญา รู้ในสภาพธรรมที่เกิดขึ้นว่า ...เกิดโทมนัสเวทนา ต่อขันธ์ 5 กองนี้ ,ก้อนทุกขสัจจ์นี้ (บุคคลอันเป็นที่รัก) ซึ่งเป็น การระลึกรู้ ในสภาพปรมัตถธรรม ดับสักกายทิฏฐิ เป็นสมุจเฉท ..........

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ati
วันที่ 24 มี.ค. 2552
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านผู้ตอบปัญหาทุกๆ ท่านครับ สาธุ สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pornpaon
วันที่ 7 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
คุณ
วันที่ 8 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
natta
วันที่ 29 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
lotustoday
วันที่ 27 ต.ค. 2563

สาธุคะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ