เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 มี.ค. 2552
หมายเลข  11726
อ่าน  2,385

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๒๘ มี.ค. ๒๕๕๒ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น. คือ

เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย

[เล่มที่ 43] คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔- หน้าที่ ๑๖๕

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย

[เล่มที่ 43] คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ ๑๖๕

๔.เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ [๒๑๗]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระลกุณฏกภัททิยเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "มาตรํ ปิตรํ หนฺตฺวา" เป็นต้น.
ความพิสดารว่า วันหนึ่งภิกษุอาคันตุกะหลายรูปด้วยกัน เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ผู้ประทับนั่ง ณ ที่ประทับกลางวัน ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง. ขณะนั้นพระลกุณฏกภัททิยเถระเดินผ่านไปในที่ไม่ไกลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระศาสดา ทรงทราบวารจิต (คือความคิด) ของภิกษุเหล่านั้น แล้วตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นหรือ ภิกษุนี้ฆ่ามารดาบิดาแล้ว เป็นผู้ไม่มีทุกข์ ไปอยู่ "เมื่อภิกษุเหล่านั้นมองดูหน้ากันและกันแล้ว แล่นไปสู่ความสงสัยว่า "พระศาสดา ตรัสอะไรหนอแล?" จึงกราบทูลว่ "พระองค์ตรัสคำนั่นชื่ออะไร" เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:- มาตรํ ปิตรํ หนฺตฺวา ราชาโน เทฺว จ ขตฺติเย รฏฐํ สานุจรํ หนฺตฺวา อนีโฆ ยาติ พฺราหฺมโณ.

"บุคคลฆ่ามารดาบิดา ฆ่าพระราชาผู้เป็นกษัตริย์ ทั้งสอง และฆ่าแว่นแคว้นพร้อมด้วยเจ้าพนักงานเก็บส่วยแล้ว เป็นพราหมณ์ ไม่มีทุกข์ ไปอยู่"

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สานุจรํ ได้แก่ ผู้เป็นไปกับด้วยผู้จัดการส่วยให้สำเร็จ คือเจ้าพนักงานเก็บส่วย.
ก็ในพระคาถานี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยว่า ตัณหา ชื่อว่ามารดาเพราะให้สัตว์ทั้งหลายเกิดในภพ ๓ เพราะบาลีว่า "ตัณหายังบุรุษให้เกิด" อัสมิมานะ ชื่อว่าบิดา เพราะอัสมิมานะอาศัยบิดาเกิดขึ้นว่า "เราเป็นราชโอรสของพระราชาชื่อโน้น หรือเป็นบุตรของมหาอำมาตย์ของพระราชาชื่อโน้น" เป็นต้น. ทิฏฐิทุกชนิด ย่อมอิงสัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิทั้งสองเหมือนชาวโลกอาศัยพระราชาฉะนั้น เพราะฉะนั้น สัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิจึงชื่อว่า พระราชาผู้กษัตริย์สองพระองค์. อายตนะ ๑๒ ชื่อว่าแว่นแคว้น เพราะคล้ายคลึงกับแว่นแคว้นโดยอรรถว่ากว้างขวาง. ความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดี ซึ่งอาศัยอายตนะนั้น ดุจบุรุษเก็บส่วย จัดการส่วยให้สำเร็จ ชื่อว่าเจ้าพนักงานเก็บส่วย. บทว่า อนีโฆ ได้แก่ ไม่มีทุกข์. บทว่า พฺราหมฺโณ ได้แก่ ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว. ในพระคาถานี้ มีอธิบายดังนี้ "ผู้ชื่อว่ามีอาสวะสิ้นแล้ว เพราะกิเลสเหล่านั้นมีตัณหาเป็นต้น อันตนกำจัดได้ ด้วยดาบคืออรหัตตมรรคญาณ จึงเป็นผู้ไม่มีทุกข์ ไปอยู่" ในกาลจบเทศนา ภิกษุเหล่านั้นดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว.

(พระคาถาที่ ๒)

แม้ในพระคาถาที่ ๒ เรื่องก็เหมือนกับเรื่องก่อนนั่นเอง. แม้ในกาลนั้น พระศาสดาทรงปรารภพระลกุณฏกภัททิยเถระเหมือนกัน เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:- มาตรํ ปิตรํ หนฺตฺวา ราชาโน เทฺว จ โสตฺถิเย เวยฺยคฺฆปญฺจมํ หนฺตฺวา อนีโฆ ยาติ พฺราหฺมโณ. "บุคคลฆ่ามารดาบิดา ฆ่าพระราชาผู้เป็นพราหมณ์ ทั้งสองได้แล้ว และฆ่าหมวด ๕ แห่งนิวรณ์มีวิจิกิจฉา- นิวรณ์ เช่นกับหนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปเป็นที่ ๕ แล้ว เป็นพราหมณ์ ไม่มีทุกข์ ไปอยู่. "

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า เทฺว จ โสตฺถิเย คือ ผู้เป็นพราหมณ์ทั้งสองด้วย.
ก็ในพระคาถานี้ พระศาสดาตรัสสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิให้เป็นพระราชาผู้เป็นพราหมณ์ทั้งสอง เพราะพระองค์เป็นใหญ่ในพระธรรมและเพราะพระองค์เป็นผู้ฉลาดในวิธีเทศนา. บัณฑิตพึงทราบวิเคราะห์ ในบท เวยฺยคฺฆปญฺจมํ นี้ ว่าหนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไป มีภัยรอบด้าน เดินไปลำบาก ชื่อว่าทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้ว. แม้วิจิกิจฉานิวรณ์ ชื่อว่าเป็นดุจทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้ว เพราะความที่วิจิกิจฉานิวรณ์นั้น คล้ายกับหนทางอันเสือโคร่งเที่ยวไปแล้วนั้น, วิจิกิจฉานิวรณ์เช่นกับหนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้วนั้น เป็นที่ ๕ แห่งหมวด ๕ แห่งนิวรณ์นั้น เพราะฉะนั้นหมวด ๕ แห่งนิวรณ์ จึงชื่อว่ามีวิจิกิจฉานิวรณ์ เช่นกับทนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้วเป็นที่ ๕.
ในพระคาถาที่ ๒ นี้ มีอธิบายดังนี้ว่า "ก็บุคคลฆ่าหมวด ๕ แห่ง นิวรณ์มีวิจิกิจฉานิวรณ์เช่นกับทนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้วเป็นที่ ๕ นี้ ไม่ให้มีส่วนเหลือ ด้วยดาบคืออรหัตตมรรคญาณ เป็นพราหมณ์ไม่มีทุกข์เที่ยวไปอยู่."
บทที่เหลือ เป็นเช่นกับบทที่มีในก่อนนั่นแล ดังนี้แล.

เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ จบ.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
คุณ
วันที่ 27 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ