ชื่อไม่เป็นของสำคัญ [นามสิทธิชาดก]
[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 370
๗. นามสิทธิชาดก
ว่าด้วยชื่อไม่เป็นของสำคัญ
[๙๗] " เพราะเห็นคนชื่อ ชีวกะตาย นางธนปาลี ตกยาก นายปันถกะหลงทางในป่า เจ้าปาปกะจึงกลับมา"
จบ นามลิทธิชาดกที่ ๗
อรรถกถานามสิทธิชาดกที่ ๗
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภภิกษุผู้หวังความสำเร็จโดยชื่อรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า ชีวกญฺจ มตํ ทิสฺวา ดังนี้. ได้ยินว่า กุลบุตรผู้หนึ่ง โดยนาม ชื่อว่า ปาปกะ บวชถวายชีวิตในพระศาสนา เมื่อถูกพวกภิกษุเรียกว่า มาเถิด อาวุโส ปาปกะ หยุดเถิดอาวุโส ปาปกะ ก็คิดว่าในโลกผู้ที่มีชื่อว่า ปาปกะ เขากล่าวกันว่า ลามก เป็นตัวกาฬกรรณี เราต้องให้พระอุปัชฌาย์อาจารย์หาชื่อที่ประกอบไปด้วยมงคลอย่างอื่นเธอเข้าไปหา อุปัชฌาย์อาจารย์กราบเรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญชื่อของผมเป็นอัปมงคล กรุณาตั้งชื่ออย่างอื่นให้กระผมเถิด.ครั้งนั้นอาจารย์และอุปัชฌาย์ ก็กล่าวก็เธออย่างนี้ว่า ชื่อเป็นเพียงบัญญัติสำหรับเรียกกัน ขึ้นชื่อว่าความสำเร็จประโยชน์ไรๆ มิได้มีเพราะชื่อเลย เธอจงพอใจชื่อของตนนั้นเถิด เธอคงยังอ้อนวอนอยู่ร่ำไป ความที่เธอมุ่งความสำเร็จโดยชื่อนี้ เกิดแพร่หลายกระจายไปในสงฆ์ อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกันในธรรมสภาตั้งเรื่องสนทนากันว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ได้ยินว่า ภิกษุโน้นมุ่งความสำเร็จโดยชื่อ ขอให้ช่วยหาชื่อที่เป็นมงคลให้ พระบรมศาสดาเสด็จมาสู่ธรรมสภา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นแม้ในกาลก่อน เธอก็มุ่งความสำเร็จเพราะชื่อเหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-
[เล่มที่ 56] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 372
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ บอกมนต์กะมาณพ ๕๐๐ ในพระนครตักกสิลา มาณพผู้หนึ่งของท่าน ชื่อ ปาปกะ โดยนาม ถูกเขาเรียกอยู่ว่า มาเถิด ปาปกะ ไปเถิดปาปกะ คิดว่า ชื่อของเราเป็นอัปมงคล ต้องขอให้อาจารย์ตั้งชื่ออื่นให้ใหม่ เขาไปหาอาจารย์เรียนว่า ท่านอาจารย์ขอรับ ชื่อของกระผมเป็นอัปมงคล โปรดตั้งชื่ออย่างอื่นให้เถิดขอรับ ครั้งนั้นอาจารย์ได้กล่าวกะเขาว่า ไปเถิดพ่อ เจ้าจงเที่ยวไปตามชนบทแล้ว กำหนดเอาชื่อที่เป็นมงคล ชื่อหนึ่งที่ตนชอบใจอย่างยิ่งแล้วมา เราจักเปลี่ยนชื่อของเจ้าเป็นชื่ออย่างอื่น เขารับคำว่า ดีแล้ว ขอรับ ถือเอาเสบียงออกเดินทางไปท่องเที่ยวไปตามคามนิคมชนบท ลุถึงนครแห่งหนึ่ง ในพระนครนั้นแหละ มีบุรุษผู้หนึ่ง ชื่อว่า ชีวกะ (บุญรอด) โดยนาม ตายลงเห็นหมู่ญาติกำลังหามเขาไปสู่ป่าช้า จึงถามว่า ชายผู้นี้ชื่ออะไร หมู่ญาติตอบว่า จะชื่อว่า ชีวกะ (บุญรอด) ก็ดี อชีวก (ไม่รอดก็ดี) ก็ตายทั้งนั้น ชื่อเป็นเพียงบัญญัติสำหรับเรียกกัน เจ้านี่ เห็นจะโง่กระมัง.
เขาฟังคำนั้นแล้ว มีความรู้สึกเฉยๆ ในเรื่องชื่อ เดินทางกลับเข้าเมืองของตน ครั้งนั้น พวกนายทุน กำลังจับนางทาสีผู้หนึ่งซึ่งไม่ให้ดอกเบี้ยให้นั่งที่ประตู เฆี่ยนด้วยเชือก และนางทาสีผู้นั้นก็มีชื่อว่า ธนปาลี (คนมีทรัพย์) เขาเดินเรื่อยไปตามท้องถนนเห็นนางถูกเฆี่ยน ก็ถามว่า มันไม่ยอมให้ดอกเบี้ย เขาถามว่าก็นางมีชื่ออย่างไรเล่า? พวกนายทุนตอบว่า นางชื่อ ธนปาลี (คนมีทรัพย์) เขาถามว่า แม้จะมีชื่อ ธนปาลี โดยนาม ก็ยังไม่อาจให้เงินแค่ดอกเบี้ยหรือ? พวกนายทุนตอบว่า จะชื่อธนปาลีคนรวยก็ดี จะชื่อ อธนปาลี คนจนก็ดี เป็นคนเข็ญใจได้ทั้งนั้นชื่อเป็นเพียงบัญญัติสำหรับเรียกกัน เจ้านี่เห็นจะโง่แน่ เขายิ่งรู้สึกเฉยๆ ในเรื่องชื่อยิ่งขึ้น เดินออกจากเมืองไปตามทางในระหว่างทางพบคนหลงทาง ถามว่า ผู้เป็นเจ้าเที่ยวทำอะไรอยู่เล่า? เขาตอบว่า ข้าพเจ้าหลงทางเสียแล้ว เขาย้อนถามว่าก็คุณชื่อไรเล่า? เขาตอบว่า ข้าพเจ้าชื่อ ปันถก (ผู้เจนทาง) เขาถามว่า ขนาดชื่อปันถกะ ยังหลงทางอีกหรือ? คนหลงทางกล่าวว่า จะชื่อปันถกะ (ชำนาญทาง) หรือชื่อ อปันถกะ (ไม่ชำนาญทาง) ก็มีโอกาสหลงทางได้เท่ากัน ชื่อเป็นบัญญัติสำหรับเรียกกัน ก็ท่านเองเห็นจะโง่แน่. เขาเลยวางเฉยในเรื่องชื่อไปสู่สำนักของพระโพธิสัตว์
ครั้นพระโพธิสัตว์ถามว่า อย่างไรเล่า พ่อคุณ เจ้าได้ชื่อที่ถูกใจมาแล้วหรือ ก็เรียนท่านว่าท่านอาจารย์ขอรับ ธรรมดาคนเราถึงจะชื่อว่าชีวก แม้จะชื่ออชีวก คงตายเท่ากัน ถึงจะชื่อ ธนปาลี แม้จะชื่อ อธนปาลีก็เป็นทุคคตะได้ทั้งนั้น ถึงจะชื่อปันถกะ แม้จะชื่ออปันถกะ ก็หลงทางได้เหมือนกัน ชื่อเป็นเพียงบัญญัติสำหรับเรียกกัน ความสำเร็จเพราะชื่อมิได้มีเลย ความสำเร็จมีได้เพราะการกระทำเท่านั้น พอกันทีเรื่องชื่อสำหรับกระผม กระผมขอใช้ชื่อเดิมนั่นแหละต่อไป พระโพธิสัตว์เทียบเคียงเรื่องที่เขาเห็น และกรรมที่เขากระทำแล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า :- "เพราะเห็นคนชื่อ ชีวกะตาย นางธนปาลี ตกยาก นายปันถกะ หลงทางในป่า เจ้าปาปกะ จึงกลับมา" ดังนี้ ฯ