ธรรมกายในพระไตรปิฏก
ในอรรถกถาอธิบายไว้ดังนี้
[เล่มที่ 70] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้าที่ 393
บทว่า อาเสวยิตฺวา ได้แก่ เจริญแล้ว. ธีรชนเหล่าใดกระทำบุญสมภารไว้ ยังไม่ถึง คือยังไม่บรรลุความเป็นพระสาวกในศาสนาแห่งพระชินเจ้า ธีรชนเหล่านั้นได้กระทำบุญสมภารไว้ ย่อมเป็นพระปัจเจกชินเจ้า คือเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้สยัมภู คือผู้เป็นเอง.
ถามว่า ท่านเป็นอย่างไร?
ตอบว่า ท่านเป็นผู้มีธรรมยิ่งใหญ่คือมีบุญสมภารใหญ่อันได้บำเพ็ญมาแล้ว มีธรรมกายมาก คือมีสภาวธรรมมิใช่น้อยเป็นร่างกาย.
ถามว่า ท่านเป็นอย่างไรอีก?
ตอบว่า ท่านมีจิต เป็นอิสระ คือเป็นไปในคติของจิต อธิบายว่า ถึงพร้อมด้วยฌาน.
[เล่มที่ 15] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 150
.... ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ผู้ใดแลมีศรัทธาในพระตถาคตตั้งมั่น เกิดแต่มูลราก ตั้งมั่นอย่างมั่นคง อันสมณพราหมณ์ เทวดามารพรหมหรือใครๆ ในโลกให้เคลื่อน ย้ายไม่ได้ ควรจะเรียกผู้นั้นว่า เราเป็นบุตรเถิดแต่พระอุระ เกิดจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค เกิดจากพระธรรม พระธรรมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพระธรรมดังนี้.
ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะคำว่า ธรรมกายก็ดีพรหมกายก็ดี ธรรมภูตก็ดี พรหมภูตก็ดี เป็นชื่อของพระตถาคต.
คำว่า ธมฺมกาโย อิติปิ ความว่า เพราะเหตุไร พระตถาคตจึงได้รับขนานนามว่า ธรรมกาย. เพราะพระตถาคตทรงคิดพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎกด้วยพระหทัยแล้ว ทรงนำออกแสดงด้วยพระวาจา. ด้วยเหตุนั้น พระวรกายของพระผู้มีพระภาคจึงจัดเป็นธรรมแท้เพราะสำเร็จด้วยธรรม.
พระธรรมเป็นกายของพระผู้มีพระภาคนั้นดังพรรณนา. มานี้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่าธรรมกาย. ชื่อว่า พรหมกาย เพราะมีธรรมเป็นกายนั่นเอง แท้จริง พระธรรมท่านเรียกว่าพรหมเพราะเป็นของประเสริฐ.
บทว่า ธมฺมภูโต ได้แก่สภาวธรรม. ชื่อว่าพรหมภูตเพราะเป็นผู้เกิดจากพระธรรมนั่นเอง.