เรียนถาม ท่านวิทยากรค่ะ

 
opanayigo
วันที่  30 มี.ค. 2552
หมายเลข  11816
อ่าน  1,021

คำถาม คือ

๑. สภาพธรรม " ความห่วงใย " ประกอบด้วยโลภะ เป็นไปได้ทั้งกุศลและอกุศลหรือไม่ อย่างไร?

ยกตัวอย่าง ในชีวิตประจำวันต้องเกี่ยวข้องกับคนรอบตัว เช่น วงศาคณาญาติ เพื่อนความห่วงใยต้องการต่างๆ โดยเฉพาะต้องการให้เขาเข้าใจธัมมะ ให้เห็นถูก... หากสติไม่เกิดก็เป็นเราที่เดือดร้อนใจที่ต้องการ

๒. แล้วในความเข้าใจถูก เห็นถูก คืออย่างไร?

กราบอนุโมทนาค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 30 มี.ค. 2552

ในภาษาไทยคำว่า " ความห่วงใย " เป็นคำที่มีความหมายกว้างพอสมควร แต่ลักษณะสภาพธรรมในขณะที่ " ความห่วงใย " ก็มีจริง ซึ่งแต่ละบุคคลอาจจะไม่เหมือนกันแม้ว่าจะใช้คำพูดเดียวกัน แต่จิตขณะนั้นก็ต่างกัน และเกิดสลับกันอย่างรวดเร็วด้วยอาจจะหมายถึงอกุศลวิตกก็ได้ หรือบางท่านอาจเป็นความหวังดี ความปรารถนาดีหรือเมตตาต่อญาตหรือบุคคลรอบข้างก็ได้ ดังนั้นสติสัมปชัญญะของแต่ละท่านที่เกิดขึ้นรู้ในขณะที่กำลังห่วงใยเท่านั้นจึงจะรู้ได้ว่าจิตเป็นกุศลหรืออกุศล...สำหรับความเห็นถูกก็คือ ความเห็นที่ตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง ชื่อว่าเห็นถูก ซึ่งมีหลายระดับ ตั้งแต่เบื้องต้น เรื่องทาน ศีล ตลอดจนถึงความเห็นถูกต้องในข้อปฏิบัติที่ตรงต่ออริยมรรคครับ...


 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 30 มี.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 30 มี.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. บุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมเป็นไปไม่ได้ว่ากิเลสประการต่างๆ จะไม่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นชีวิตที่ปกติจริงๆ จึงเห็นได้ว่าชีวิตประจำวันนั้นอกุศจิตเกิดมากกว่ากุศลจิต เพราะได้สะสมและคุ้นเคยกับอกุศลมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เป็นอย่างนี้มาแล้วนับชาติไม่ถ้วน แต่ก็ไม่ใช่ว่าตลอดทั้งวันนั้นจะมีแต่อกุศลจิตเพียงอย่างเดียว บางครั้ง บางขณะก็เป็นโอกาสเกิดขึ้นของกุศลจิตได้ เช่น มีการช่วยเหลือเกื้อกูลบุคคลอื่น แนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น รวมไปถึงขณะที่ฟังพระธรรม มีความเข้าใจถูกเห็นถูกขึ้น เป็นต้นด้วย เป็นความจริงที่ว่าเราไม่ได้อยู่ในโลกนี้เพียงคนเดียว ยังมีบุคคลรอบข้างมากมาย ทั้งพ่อแม่ พี่น้อง มิตรสหาย เมื่อมีโอกาสได้ศึกษาพระธรรม มีความเข้าใจในระดับหนึ่งแล้ว ก็มีความประสงค์จะให้บุคคลเหล่านี้ได้เข้าใจธรรม ตามด้วย ย่อมเป็นสิ่งที่ดี เป็นความดี เป็นความปรารถนาดีที่มีให้ ถึงแม้ว่าจะใช้หรือไม่ใช้คำว่า "ห่วงใย" ก็ตาม เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น และคำว่า ห่วงใย บางนัยจะหมายถึงความติดข้องยินดี พอใจในกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ รวมถึงติดข้องในสภาพธรรมอย่างอื่นที่เป็นที่ตั้งของโลภะด้วย ดังคำที่ท่านพระกุมาปุตตเถระ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า "การอยู่โดยไม่ห่วงใย เป็นความดี ทุกเมื่อ" หมายถึงไม่มีความติดข้อง ยินดี พอใจ บุคคลผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ จึงยังไม่หมดโลภะ ยังมีความห่วงใย ในความหมายนี้อยู่ ๒. ความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปัญญา เป็นธรรมฝ่ายดี ที่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ และปัญญา ย่อมเจริญขึ้นไปตามลำดับไม่ใช่ว่าจะเจริญสมบูรณ์เต็มที่ด้วยการฟังเพียงครั้งเดียว หรือ สองครั้งเท่านั้น หรือแม้กระทั่งเพียงชาติสองชาติเท่านั้น การอบรมเจริญปัญญา เป็นการอบรมที่ต้องใช้เวลาอันยาวนาน ที่สำคัญ ขาดการฟังไม่ได้เลย ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 30 มี.ค. 2552

ลองสังเกต สภาพจิต...ขณะที่ เกิด "ความห่วงใย"ถ้า สภาพจิต ขณะนั้น เป็นความพอใจ ติดข้อง ฯก็ควรจะเป็น โลภมูลจิตถ้ามีลักษณะ เดือดร้อน กระวนกระวาย กังวล ไม่ชอบใจ ฯก็ควรจะเป็น โทสมูลจิต.
.
ความห่วงใย อาจเป็นเหตุให้เกิด อกุศลจิต และ อกุศลกรรมหรือ เกิดกุศลจิต และ กุศลกรรม ก็ได้....แล้วแต่ เหตุปัจจัย.
.
เช่น เมื่อห่วงใย แล้วเกิดกุศลจิต เช่น ความปรารถนาดี เมตตา กรุณา ต่อบุคคลอื่นเป็นเหตุให้เกิด กุศลกรรม ทางกาย ทางวาจาเช่น มีการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น ทางกาย วาจา เป็นต้น.หรือ เมื่อห่วงใย แล้วเกิดอกุศลจิตมากมาย เช่น วิตกกังวล เดือดร้อนใจ ฯลฯแล้วเกิดอกุศลกรรม ทางกาย ทางวาจา เป็นต้น.
.
ข้าพเจ้า มีความเห็นว่าหากมีความเข้าใจ ว่า "ความห่วงใย" เป็น "สภาพธรรม" ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมาแล้ว และมีกำลัง จึงเกิดขึ้นความห่วงใย เกิด ปรากฎให้ จิต รู้ลักษณะของนามธรรมชนิดนี้ได้เมื่อรู้ลักษณะตามความเป็นจริงก็จะทราบว่า...เป็นสภาพธรรม เป็นอนัตตาคือ เกิด แล้วดับ ไม่เที่ยง ไม่ใช่เราแต่ เป็นเพียงสภาพของนามธรรมชนิดหนึ่ง เท่านั้น.
.
จากการศึกษาพระธรรม แล้วเข้าใจ ก็จะเห็นได้ว่า กุศล ย่อมดีกว่า อกุศล แน่นอนความข้าใจพระธรรม เป็นปัจจัยให้เกิด "ความเห็นถูก"ที่จะพึง ละอกุศล เพราะรู้ว่า อกุศลไม่ควรเจริญ และควรเจริญกุศล เพราะกุศลมีแต่คุณ ไม่มีโทษ.
.
แต่ ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็แล้วแต่ "เหตุปัจจัย" คือ การสะสม ความเข้าใจในพระธรรม ถ้าเข้าใจมาก...ความห่วงใย ที่เป็นอกุศล ก็ควรจะน้อยลงเพราะ "ปัญญา" รู้ว่า เป็น "ธรรมะ"....ไม่ใช่เราและ การมีความเชื่อ ที่มั่นคง ในเรื่องของกรรม ว่า สัตว์โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม มีกรรมเป็นของๆ ตน.ความหวั่นไหว ในอกุศล ควรจะน้อยลง ตามกำลังของ ปัญญา ที่มาจากการอบรม นั่นเอง.
.
เมื่อเกิด "ความห่วงใย" ขึ้น ขณะใดสติ ก็ระลึกรู้ ลักษณะ" ของสภาพธรรมนั้น ขณะนั้น ทันทีถ้ากุศลจิตเกิด และได้มีกระทำ ที่ดีที่สุดแล้วอะไรจะเกิด....ก็ต้องเกิด.!เพราะบังคับบัญชา "เหตุปัจจัย" ไม่ได้.
.
เพราะฉะนั้นอุเบกขาบารมี ในชีวิตประจำวัน... (เป็นต้น) คือ ความวางใจเป็นกลาง ความไม่เอนเอียงหวั่นไหวไปด้วย ความยินดี ยินร้าย ชอบ หรือ ชังจึงเป็น "ธรรมเครื่องเกื้อกูล" ที่มีคุณค่า มีประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ค่ะ.
.
ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 31 มี.ค. 2552

คำว่า "ห่วงใย" นี้ ตามความหมายที่ให้ไว้ตามพจนานุกรม ฉบับ ราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. ๒๕๔๒ ท่านให้คำนิยามไว้ว่า

"ห่วง" หมายถึง (นาม) เครื่องคล้อง เช่น ห่วงประตู, ขอที่เป็นวง. (กริยา) ผูกพัน,กังวลถึง, มีใจพะวงอยู่. "ห่วงใย" (กริยา) มีใจพะวงอยู่, มีทุกข์กังวลอยู่

จากความหมายลักษณะนี้ หากเป็นสภาพธรรมแล้ว น่าจะเป็นอกุศลจิตเพียงประการเดียวนะครับ เพราะ เป็นเรื่องของการติดข้องอยู่ด้วย โลภะ (ความผูกพัน) โทสะ (ความพะวงหรือกังวล) หรือโมหะ (ตัวตนทั้งผู้ผูกพัน พะวง และกังวล และผู้ถูกผูกพัน พะวงและกังวล)

โดยเฉพาะที่เกิดความห่วงใยได้นั้นก็เพราะกลัวว่าผู้อื่นหรือสิ่งอื่นจะเป็นไปหรือตกอยู่ในสิ่งที่เราคิดว่าไม่ดีหรือเป็นทุกข์

ความปราถนาดีให้ญาติ พี่น้อง เพื่อน และมิตร ได้เข้าใจในพระธรรมเพื่อความพ้นทุกข์เป็นเรื่องดีเพราะจิตเป็นกุศล เป็นจิตกรุณา แต่เมื่อบรรดาพวกเค้าเหล่านั้นปฏิเสธ ไม่สนใจ ไม่เข้าใจ หรือ เข้าใจผิด ก็เกิดความห่วงใยซึ่งเป็นอกุศลจิตแล้ว ห้ามไม่ได้เลย

ดังนั้น ความ "ห่วงใย" เกิดขึ้น เมื่อระลึกรู้ ก็ทราบได้ว่านั้นเป็นอกุศลแล้ว และทราบต่อไปว่า ความ "กรุณา" หรือ "อุเบกขา" เป็นธรรมะฝ่ายกุศล ทำความเข้าใจเช่นนี้ น่าจะเป็นทางให้สภาพธรรมฝ่ายกุศลเกิดขึ้นต่อมาได้ ไม่จมอยู่กับความห่วงใยซึ่งหากละออกหรือสลัดออกไม่ได้ ก็คงมีแต่ความทุกข์เจือปนอยู่เสมอไป

ส่วนผม "ห่วงใย" ตัวเองที่ยังโง่อยู่มากๆ จึงต้อง "กรุณา" ตัวเองมากเป็นพิเศษกว่าคนอื่น ให้มีโอกาสได้ฟังธรรมะบ่อยๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 31 มี.ค. 2552
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 31 มี.ค. 2552

ความห่วงใยที่เป็นอกุศลวิตกนั้น มีสภาพจิตไม่สงบ มีความไม่สบายใจเช่นห่วงใย

พ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลาน แทนที่จะห่วงใยซึ่งเป็นอกุศลจิตถ้าขณะนั้นปัญญาเกิดจะเปลี่ยนความห่วงใยเป็นความหวังดี ความปรารถนาดี หรือเมตตาต่อญาตหรือบุคคลรอบข้างก็ได้ ซึ่งขณะนั้นจิตเป็นกุศล แต่ถ้าไม่อยากให้มีความวิตกกังวลห่วงใยคงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ตามการสะสมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดได้ ควรอบรมเจริญปัญญา

รู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฎว่าเป็นเพียงลักษณะนามธรรม และรูปธรรม

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
saifon.p
วันที่ 31 มี.ค. 2552

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pornpaon
วันที่ 1 เม.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
คุณ
วันที่ 1 เม.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ