วิสุทธิ ๗ -- ๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  31 มี.ค. 2552
หมายเลข  11842
อ่าน  8,235

วิสุทธิ ๗

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เมื่อกังขาวิตรณวิสุทธิเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาที่เจริญขึ้นจากสติปัฏฐานที่พิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วขึ้นจนชิน รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นเสมอกันหมดทุกประเภท ทำให้ละคลายการใฝ่ใจแสวงหายึดมั่นในนามหนึ่งนามใดรูปหนึ่งรูปใดโดยเฉพาะ และน้อมพิจารณาการเกิดดับ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตาของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ จนประจักษ์การเกิดดับสืบต่อกันของนามธรรมและรูปธรรม เป็นสัมมสนญาณและอุทยัพพยญาณตามลำดับ เมื่ออุทยัพพยญาณดับไปแล้ว กิเลสที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉทก็ทำให้เกิดความยินดีพอใจใน วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ...

๑. โอภาส แสงสว่าง

๒. ญาณ ความรู้

๓. ปีติ ความอิ่มใจ

๔. ปัสสัทธิ ความสงบ

๕. สุข ความสบายแช่มชื่นใจ

๖. อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ

๗. ปัคคาหะ ความเพียร

๘. อุปัฏฐานะ ความมั่นคง

๙. อุเบกขา ความวางเฉย

๑๐. นิกันติ ความใคร่

๑. เมื่ออุทยัพพยญาณดับไปแล้ว โอภาสย่อมเกิดจากจิตที่สงบถึงขั้นที่เป็นปัจจัยให้แสงสว่างเกิดขึ้นได้ ขณะที่เกิดความยินดีในโอภาสนั้นเป็นวิปัสสนูปกิเลส เพราะทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง ไม่ได้พิจารณาความเกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมในขณะนั้น

๒. ขณะที่เกิดความยินดีในความคมกล้าของปัญญา ที่ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมอย่างรวดเร็วดุจฟ้าแลบนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส เพราะไม่ได้พิจารณาความเกิดดับ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมในขณะนั้นต่อไป

๓. ขณะที่ยินดีในปิติ ความอิ่มเอิบ ที่ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๔. ขณะที่ยินดีในความสงบ ซึ่งปราศจากความกระวนกระวายความแข็งกระด้าง ความคดงอ ไม่ควรแก่การงาน เป็นต้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๕. ขณะที่ยินดีในความสุข ซึ่งเป็นโสมนัสเวทนาอย่างยิ่งนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๖. ขณะที่ยินดีในความน้อมใจเชื่อที่มั่นคงยิ่งขึ้นนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๗. ขณะที่ยินดีในความเพียรที่ไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนักที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๘. ขณะที่ยินดีในความมั่นคงของสติปัฏฐาน ๔ ที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๙. ขณะที่ยินดีในความวางเฉย คือ เป็นกลางเสมอกัน ในสังขารธรรมทั้งปวงที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ เมื่อประจักษ์การเกิดดับของอารมณ์ที่ปรากฏอย่างรวดเร็วดุจฟ้าแลบนั้น ก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส

๑๐. ขณะที่ยินดีที่ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมด้วยวิปัสสนาญาณนั้น ก็เป็น วิปัสสนูปกิเลส

เมื่อปัญญาพิจารณารู้ว่าวิปัสสนูปกิเลสเป็นสิ่งที่ควรละ ขณะที่ปัญญาคมกล้า รู้ชัดความละเอียดของวิปัสสนูปกิเลส ซึ่งไม่ใช่ทางที่จะนำไปสู่การละคลายความติดข้องในสภาพธรรมทั้งหลายที่ละเอียดขึ้น ขณะนั้นเป็นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ อุททยัพพยญาณที่พ้นจากวิปัสสนูปกิเลสแล้ว

ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
toangsg
วันที่ 27 ต.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pamali
วันที่ 22 พ.ย. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 19 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ