กาย เวทนา จิต ธรรม...หมายความว่าอย่างไร? [๒]

 
พุทธรักษา
วันที่  6 เม.ย. 2552
หมายเลข  11893
อ่าน  3,347

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๖๐๓-๖๐๔ บรรยาย โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ถอดเทป โดย คุณย่าสงวน สุจริตกุล

ความรู้สึก หรือ เวทนา

ซึ่งเป็น "เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน" เป็น สภาพธรรม คือ ความรู้สึก ไม่ใช่ สภาพธรรม ที่เป็น กาย เพราะว่า กาย มี "ลักษณะ" อ่อน หรือ แข็ง เย็น หรือ ร้อน ตึง หรือ ไหวแต่ ความรู้สึก ไม่อ่อน ไม่แข็ง ไม่เย็น ไม่ร้อน ไม่ตึง ไม่ไหว ความรู้สึก เป็น ความรู้สึก ดีใจ เสียใจ เฉยๆ หรือ เป็นทุกข์ เป็นสุข ขณะที่ รู้ สภาพธรรมหนึ่ง สภาพธรรมใดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ

ในวันหนึ่งๆ นี้ มีการรู้ สภาพธรรม ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ความรู้สึก ก็ต้องมีอยู่เรื่อยๆ เหมือนกัน แต่ ถึงแม้ว่า "ความรู้สึก" จะมีอยู่เรื่อยๆ ถ้า "สติ" ไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ "ลักษณะ" ของ "ความรู้สึก"ย่อมไม่รู้ชัด ว่า ความรู้สึก แต่ละอย่างๆ เกิดขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัย ที่ต่างๆ กัน แล้วก็ดับไป

ถ้าเห็น สิ่งที่ไม่น่าพอใจ ความรู้สึก ก็เป็น อย่างหนึ่ง ถ้าเห็น สิ่งที่น่าพอใจ ความรู้สึก ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ความรู้สึก ในวันหนึ่งๆ ก็ต่างกันไป ถ้า "สติ" ไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึก ก็จะไม่รู้เลย ว่า ความรู้สึก เป็นสภาพธรรม ที่มีจริงและ เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย แล้วดับไป ความรู้สึก ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่ปรากฏทางกาย เพราะฉะนั้น ความรู้สึก ก็เป็นของจริงอีกอย่างหนึ่งซึ่ง ไม่ใช่ตัวตน

"จิต" เป็น สภาพธรรมที่รู้ คือ "รู้" ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางหนึ่ง ทางใด ใน ๖ ทาง คือทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ จะไม่ใช้คำว่า "จิต" ก็ได้ เพราะว่า ในการเจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่ต้องใช้คำ ไม่ต้องใช้ชื่อแต่เป็น การระลึกรู้ "ลักษณะ" ที่เป็น "สภาพรู้""สภาพรู้" ที่กำลังรู้ ทางหนึ่ง ทางใด เช่น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือ ทางใจ เช่น ขณะที่กำลังเห็น ในขณะนี้ เป็น สภาพรู้ซึ่ง "สติ" ระลึกรู้ในสภาพรู้ ในอาการรู้ ในธาตุรู้ ที่กำลังรู้ โดยไม่ต้องใช้ "ชื่อ" และ ไม่ต้อง "คิด" ว่า กำลังระลึกรู้ ลักษณะของจิต.
ขณะนั้น เป็น "จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน"เพราะว่า ขณะนั้น"สติ" กำลังระลึกรู้ "ลักษณะ" ของสภาพรู้ ที่กำลังรู้ ใน สภาพธรรมหนึ่ง สภาพธรรมใด

และ "ธรรม" อื่นๆ ก็หมายถึง สภาพธรรม ที่ไม่ใช่ กาย เวทนา และ จิตเช่น เสียง หรือ กลิ่น เป็นต้น. เวลาที่ "ธรรม" อื่นๆ ที่ไม่ใช่กาย เวทนา และ จิต กำลังปรากฏ "สติ" ก็ระลึกรู้ "ลักษณะ"ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นขณะนั้น ก็เป็น "ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน" แต่ ให้ทราบว่า ไม่จำเป็น ที่จะต้องแยก โดย "ชื่อ" แต่ ให้รู้ จริงๆ ว่า "สติ" มี "ลักษณะ" อย่างไร โดยการที่มี "สติ" เกิดขึ้นจริงๆ ในขณะนี้และ สามารถรู้ "ลักษณะ" ของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ได้

กาย เวทนา จิต ธรรม ... หมายความว่าอย่างไร? [๑]

กาย เวทนา จิต ธรรม ... หมายความว่าอย่างไร.? [๓]


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 7 เม.ย. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ