การบรรลุพระอรหัตด้วยมรรค ๔ [ยุคนัทธสูตร]

 
เมตตา
วันที่  6 เม.ย. 2552
หมายเลข  11900
อ่าน  1,769

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ หน้า 402

๑๐. ยุคนัทธสูตร

[๑๗๐] สมัยหนึ่ง พระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี ท่านเรียกภิกษุทั้งหลายในที่นั้นมา ฯลฯ แสดงธรรมว่า อาวุโสทั้งหลาย สหธรรมิกผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม พยากรณ์ การบรรลุ พระอรหัตในสำนักของเรา ด้วยมรรค ๔ โดยประการทั้งปวง หรือว่าด้วย มรรคใดมรรคหนึ่งในมรรค ๔ นั้น มรรค ๔ เป็นไฉน

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้บำเพ็ญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้าเมื่อเธอ บำเพ็ญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้าอยู่ มรรคย่อมบังเกิดขึ้น เธอส้องเสพ เจริญกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอส้องเสพเจริญการทำให้มากซึ่งมรรค นั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยก็ย่อมสิ้นไป

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้บำเพ็ญสมถะมีวิปัสสนาเป็น เบื้องหน้า เมื่อเธอบำเพ็ญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้าอยู่ มรรคย่อมบังเกิด ขึ้น เธอส้องเสพเจริญกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอส้องเสพเจริญการทำ ให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยก็ย่อมสิ้นไป

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้บำเพ็ญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่ กันไป เมื่อเธอบำเพ็ญสมถ ะและวิปัสสนาเป็นคู่กันไปอยู่ มรรคย่อมบังเกิดขึ้น เธอส้องเสพเจริญกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้นเมื่อเธอส้องเสพเจริญกระทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยก็ย่อมสิ้นไป

อีกอย่างหนึ่ง ใจของภิกษุปราศจากอุทธัจจะในธรรมแล้ว สมัยนั้น จิตนั้นย่อมตั้งมั่น หยุดนิ่งอยู่ภายในเป็นหนึ่งแน่วแน่เป็นสมาธิ มรรคย่อมเกิดแก่ ภิกษุนั้น เธอส้องเสพเจริญกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอส้องเสพเจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยก็ย่อมสิ้นไป อาวุโสทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม มา พยากรณ์การบรรลุพระอรหัตในสำนักของเรา ด้วยมรรค ๔ นี้ โดยประการ ทั้งปวง หรือด้วยมรรคใดมรรคหนึ่งใน ๔ มรรคนั้น

จบ ยุคนันธสูตรที่ ๑๐


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 6 เม.ย. 2552

อรรถกถายุคนัทธสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในยุคนัทธสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สมถปุพฺพงฺคม ได้แก่ ทำสมถะไปเบื้องหน้า คือ ให้เป็น ปุเรจาริก.

บทว่า มคฺโค สญฺชายติ ได้แก่ โลกุตรมรรคที่ ๑ ย่อมเกิดขึ้น.

บทว่า โส ต มคฺค ความว่า ชื่อว่า อาเสวนะ เป็นต้น ไม่มีแก่มรรคอัน เป็นไปในขณะจิตเดียว แต่เมือยังมรรคที่ ๒ ให้เกิดขึ้น ท่านกล่าวว่า เธอส้องเสพเจริญทำให้มากซึ่งมรรคนั้นนั่นแล.

บทว่า วิปสฺสนา ปุพฺพงฺคม ได้แก่ ทำวิปัสสนาไปเบื้องหน้า คือ ให้เป็นปุเรจาริก

บทว่า สมถ ภาเวติ ความว่า โดยปกติผู้ได้วิปัสสนาตั้งอยู่ในวิปัสสนา ย่อมยังสมาธิให้เกิดขึ้น.

บทว่า ยุคนทฺธ ภเวติ ได้แก่ เจริญทำให้เป็นคู่ติดกันไป ใน ข้อนั้น ภิกษุไม่สามารถจะใช้จิตดวงนั้นเข้าสมาบัติ แล้วใช้จิตดวงนั้นนั่นแล พิจารณาสังขารได้ แต่ภิกษุนี้เข้าสมาบัติเพียงใด ย่อมพิจารณาสังขาร เพียงนั้น พิจารณาสังขารเพียงใด ย่อมเข้าสมาบัติเพียงนั้น ถามว่า อย่างไร. ตอบว่า ภิกษุเข้าปฐมฌาน ครั้นออกจากปฐมฌานแล้ว พิจารณาสังขารทั้งหลาย ครั้น พิจารณาสังขารทั้งหลายแล้ว เข้าทุติยฌาน ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ครั้นออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว พิจารณาสังขารทั้งหลาย ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนี้ชื่อว่าเจริญสมถวิปัสสนาให้เป็นคู่ติดกันไป.

บทว่า ธมฺมุทฺธจฺจวิคฺคหิต ความว่า อันอุทธัจจะ ได้แก่ วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ในธรรมคือสมถะและวิปัสสนาจับแล้ว คือ จับดีแล้ว ด้วยบทว่า โหติ โส อาวุโส สมโย นี้ท่านกล่าวถึงกาลที่ได้สัปปายะ ๗

บทว่า ยนฺต จิตฺต ได้แก่ จิตที่ก้าวลงสู่วิถีแห่งวิปัสสนาในสมัยใดเป็นไปแล้ว.

บทว่า อชฺฌตฺตเยว สนฺติฏติ ความว่า จิตก้าวลงสู่วิถีแห่งวิปัสสนาแล้วหยุดอยู่ในอารมณ์ อันได้แก่ อารมณ์ภายในนั้นนั่นเอง.

บทว่า สนฺนิสีทติ ได้แก่ นิ่งโดยชอบ ด้วยอำนาจของอารมณ์.

บทว่า เอโกทิ โหติ ได้แก่ จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง.

บทว่า สมาธิยติ ได้แก่ จิตตั้งไว้โดยชอบ คือตั้งไว้ดีแล้ว.

คำที่เหลือในสูตรนี้ มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.

จบ อรรถกถายุคนัทธสูตรที่ ๑๐

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ