เรื่อง...ระงับความทะเลาะแห่งพระญาติ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรื่อง ระงับความทะเลาะแห่งพระญาติ
ว่าด้วยไม่มีเวร ย่อมอยู่เป็นสุข
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในแคว้นของชาวสักกะทรงปรารภหมู่พระญาติทั้งหลาย เพื่อเข้าไประงับความทะเลาะ ได้ยินว่า พวกเจ้าศากยะ และพวกเจ้าโกลิยะ ให้กั้นแม่น้ำโรหิณี ด้วยทำนบเดียวกัน ทำข้าวกล้า เมื่อข้าวกล้าเหี่ยว ชาวพระนครโกลิยะ กล่าวว่า "ขอพวกท่าน จงให้น้ำแก่ข้าพเจ้าเถิด" ฝ่ายพวกศากยะ ก็กล่าวอย่างนั้น. พวกโกลิยะ กล่าวว่า "พวกข้าพเจ้าไม่ให้"
ฝ่ายพวกศากยะ กล่าวว่า "แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ให้" ความทะเลาะ เริ่มเจริญขึ้นแล้วต่างก็แสดงกำลังของตนๆ เตรียมการยุทธ์ ออกไปแล้ว.
พระศาสดา ทรงตรวจดูโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทอดพระเนตรเห็นหมู่พระญาติแล้ว ดำริว่า "เมื่อเราไม่ไป ... พระญาติเหล่านี้ จักฉิบหาย" จึงเสด็จไปทางอากาศ พระองค์เดียว ประทับนั่งโดยบัลลังก์ ในอากาศท่ามกลางแม่น้ำโรหิณี พระญาติทั้งหลาย เห็นพระศาสดาแล้ว ทิ้งอาวุธ ถวายบังคม
พระศาสดาตรัสว่า "มหาบพิตร นี้ชื่อว่า ทะเลาะอะไรกัน" ครั้นทรงทราบแล้ว ตรัสว่า "น้ำมีค่าเท่าไร มหาบพิตร"
พระญาติทูลว่า มีค่าน้อย พระเจ้าข้า
พระศาสดา ตรัสว่า "การที่พวกท่าน ยังกษัตริย์ทั้งหลาย หาค่ามิได้ ให้ฉิบหายเพราะอาศัยน้ำ ซึ่งมีค่าน้อย ควรแล้วหรือ" แล้วทรงเตือนว่า "มหาบพิตร เพราะเหตุไร จึงทำกรรม เห็นปานนี้ เมื่อเราไม่มีอยู่ในวันนี้ แม่น้ำ คือโลหิตจักไหลนอง พวกท่าน ทำกรรมไม่ควร" แล้วตรัสว่า "ท่านทั้งหลาย เป็นผู้มีเวร ๕ อยู่ เราไม่มีเวรอยู่" เป็นต้น แล้วตรัสพระคาถานี้ ว่า
สุสุขํ วต ชีวาม เวริเนสุ อเวริโน เวริเนสุ มนุสฺเสสุ วิหราม อเวริโน. สุสุขํ วต ชีวาม อาตุเรสุ อนาตุรา อาตุเรสุ มนุสฺเสสุ วิหราม อนาตุรา. สุสุขํ วต ชีวาม อสฺสุเกสุ อนุสฺสุกา อุสฺสุเกสุ มนุสฺเสสุ วิหราม อนุสฺสุกา.
แปลว่า ในพวกมนุษย์ ผู้มีเวรกัน พวกเรา ไม่มีเวร เป็นอยู่สบายดีหนอ ในพวกมนุษย์ ผู้มีเวรกัน พวกเรา ไม่มีเวรอยู่ ในพวกมนุษย์ ผู้กระสับกระส่ายกัน พวกเรา ไม่มีความกระสับกระส่าย เป็นอยู่สบายดีหนอ
ในพวกมนุษย์ ผู้มีความกระสับกระส่ายกัน พวกเรา ไม่มีความกระสับกระส่ายอยู่. ในพวกมนุษย์ ผู้มีความขวนขวายกัน พวกเรา ไม่มีความขวนขวาย เป็นอยู่สบายดีหนอ. ในพวกมนุษย์ ผู้มีความขวนขวายกัน พวกเรา ไม่มีความขวนขวายอยู่ ดังนี้
อธิบาย ในบทเหล่านั้น
บทว่า "สุสุขํ" ได้แก่ สบายดี คำนี้ ตรัสอธิบายไว้ว่า คฤหัสถ์ เหล่าใด ยังความเป็นอยู่แห่งชีวิต ให้เกิดขึ้น ด้วยความสามารถแห่งกรรม มีการตัดที่ต่อ เป็นต้น. ก็หรือ บรรพชิตทั้งหลาย มีความเป็นไปแห่งชีวิต ให้เกิดขึ้น ด้วยความสามารถแห่งกรรม มี เวชชกรรม เป็นต้น ย่อมกล่าวว่า "พวกเราย่อมเป็นอยู่สบาย" ดังนี้
ในพวกมนุษย์ ผู้มีเวรกัน ด้วยเวร ๕ พวกเราเป็นผู้ไม่มีเวร ในพวกมนุษย์ ผู้มีความกระสับกระส่าย ด้วยกิเลส พวกเรา ไม่มีความกระสับกระส่าย เพราะไม่มีกิเลส
พวกมนุษย์ ขวนขวายในการแสวงหากามคุณ พวกเรา ไม่มีการขวนขวาย เพราะไม่มีการแสวงหาเบญจกามคุณนั้น เราเท่านั้น ย่อมอยู่เป็นสุขดีหนอ กว่าคฤหัสถ์และบรรพชิตเหล่านั้น
ดังนี้ คำที่เหลือ มีอรรถตื้นทั้งนั้น
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นต้น ดังนี้แล
จบ เรื่อง ระงับความทะเลาะแห่งพระญาติ
คู่มือศึกษาธรรม เล่มที่ ๒ "ธรรมบทสังคหะ"
เรียบเรียงโดย อาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์
ขออนุโมทนา
จากข้อความนี้ ขอเรียนถามว่า
คฤหัสถ์ เหล่าใด ยังความเป็นอยู่แห่งชีวิต ให้เกิดขึ้น ด้วยความสามารถแห่งกรรม มี การตัดที่ต่อ เป็นต้น ก็หรือ บรรพชิตทั้งหลาย มีความเป็นไปแห่งชีวิต ให้เกิดขึ้น ด้วยความสามารถแห่งกรรม มี เวชชกรรม เป็นต้น ย่อมกล่าวว่า "พวกเราย่อมเป็นอยู่สบาย" ดังนี้ ในพวกมนุษย์ผู้มีเวรกัน ด้วยเวร ๕ พวกเรา เป็นผู้ไม่มีเวร
การตัดที่ต่อ หมายความว่าอะไร
เวชชกรรม หมายความว่าอะไร
เวร ๕ หมายความว่าอะไร
ขออนุโมทนาค่ะ
คำว่า การตัดที่ต่อ หมายถึง พวกโจร พวกขโมย พวกงัดแงะ
คำว่า เวชชกรรม หมายถึง อาชีพหมอรักษาคนไข้
คำว่า เวร ๕ ในที่นี้หมายถึง เจตนาก้าวล่วงศีล ๕ ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
"... ในพวกมนุษย์ ผู้กระสับกระส่ายกัน พวกเรา ไม่มีความกระสับกระส่าย เป็นอยู่สบายดีหนอ ..."
ขออนุโมทนาครับ