เป็นสุข หรือ เป็นทุกข์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความบางตอน จาก หนังสือ
บทบาทของอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ในการเผยแผ่พุทธธรรม
เรียบเรียงโดย พระธนนาถ นิธิปญฺโญ
(พลกรรณ์) หน้า ๔๒ - ๔๕
สาระธรรม ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุยานเกราะ ๗๘๕ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านอาจารย์สุจินต์ ได้สนทนาธรรมกับผู้สนใจธรรมท่านหนึ่ง คือ คุณวันทนา ทิพวัลย์ซึ่ง เนื้อหาใจความส่วนหนึ่งของบทสนทนาธรรม ในครั้งนั้น มีดังนี้
ว. สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟังทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ แม้ว่าจะต่างกันด้วยเพศ วัย ฐานะ ความเป็นอยู่แต่ทุกคน ก็ย่อมมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง นั่นก็คือ ทุกคน ปรารถนาความสุขและ กำลังแสวงหาให้ได้มา ซึ่ง ความสุข นั้น
ส. นักปราชญ์บางคนกล่าวว่า ความสุขนั้น ไม่ต้องไปแสวงหา มันไม่ได้อยู่ที่ไหน ห่างไกลจากตัวเราเลยเพียงแต่ว่า เราพยายามขจัดเหตุของความทุกข์ ไปให้พ้นไม่ประกอบเหตุนั้น ความสุข ก็จะเกิดขึ้นเอง จากการศึกษาหลักธรรม ในทางพระพุทธศาสนาทำให้เรา เกิดความเข้าใจขึ้นมาอย่างหนึ่ง ว่า ความสุขนั้น เกิดขึ้นได้ด้วยการ"ทำความเห็นให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง" เพราะเมื่อเรามี "ความเห็น" ที่ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริงแล้วก็ย่อมจะ "กระทำเหตุ" ที่ถูกต้องที่จะทำให้บรรลุ "ความสุขที่แท้จริง" ได้
ว. เพราะฉะนั้น การสนทนาของเราในวันนี้ ดิฉันคิดว่า น่าจะพูดกันถึง เรื่อง "ปัจจัย" หรือ สิ่งที่ทำให้เรา เป็นสุข เป็นทุกข์ ในปัจจุบันนี้ ว่า นอกจากฐานะ ลาภ ยศ แล้วยังมีสิ่งอื่นอีกไหมคะ
ส. ถ้าคุณวันทนาจะสังเกตชีวิตของคนเรา ว่า นอกจาก "กรรมเก่า" ที่ได้กระทำไว้แล้ว นั้น ซึ่งจำแนกคนเราให้ต่างกันทั้ง รูปร่าง ผิวพรรณ วรรณะ ฐานะ ลาภ ยศ สรรเสริญต่างๆ แล้ว บางครั้ง คนที่ไร้ทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ หรือ บริวารสมบัติ เหล่านั้นก็อาจจะมีความทุกข์ น้อยกว่าคนที่สมบูรณ์พร้อม ด้วยทรัพย์สมบัติ ก็เป็นได้
ว. ใช่ค่ะ บางคน ถ้ามองดูจากสายตา ของบุคคลภายนอกที่มองดูกันแต่เพียงเผินๆ ก็จะเห็นว่า เขามีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อม ไม่มีอะไรขาดตกบกพร่องเลย แต่ทว่า ถ้าใคร สามารถที่จะรู้ซึ้ง ถึงจิตใจของเขาแล้วละก็ จะรู้ได้ทีเดียวค่ะ ว่า เขาไม่มี ความสุขใจ สมควรแก่ฐานะ ความเป็นอยู่ของเขาเลย..ก็น่าแปลกนะคะ
ส. คุณวันทนาคิดว่า เป็นเพราะอะไรคะ
ว. เพราะกิเลสค่ะ ยกตัวอย่างให้ฟังหน่อยซิคะ ว่า เป็นความจริง น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน อย่างเช่น คนร่ำรวย ถึงจะรวยสักแค่ไหน ก็จะรู้สึกว่ารวยไม่พออยากจะรวยยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก คนสวยคนงามบางคน ถึงจะสวยมากแล้ว ก็ยังกลัวว่าคนอื่นจะสวยกว่าอดที่จะกลัวไม่ได้ ว่าจะมีคนอื่นมาเทียบ ทำให้ความสวยงามของตัวเองด้อยลง คนที่ได้ชื่อว่า เป็นคนเก่ง มีสติปัญญาทางโลกมากมายก็อดที่จะกลัวไม่ได้ ว่าจะมีคนมาปัดแข้งปัดขา
ส. เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็จัดได้ว่า ความรวย ความสวย หรือ ความเก่ง ที่มีอยู่นั้น ไม่ได้ช่วยให้เขามีความสุขใจได้เลย คุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วนะคะ ว่า ความสุข ไม่ได้อยู่ที่เงินทอง หรือ รูปสมบัติ ลาภ ยศแต่อยู่ที่"จิตใจที่สงบจากกิเลส"พ้นจากอำนาจของกิเลส ที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส เวลาโกรธ กับ เวลาที่ไม่โกรธคุณวันทนาลองเปรียบเทียบดู ว่าขณะไหนจะแจ่มใส ปลอดโปร่ง และ เป็นสุขยิ่งกว่ากัน
ว. ก็ต้องเป็น ขณะที่ไม่โกรธ ซิคะอาจารย์ จิตใจจึงจะแจ่มใส ไม่ขุ่นมัว ไม่เร่าร้อน ไม่มีการกระทำที่ละเมิดออกมาจากทางกาย ทางวาจา
ส. แต่ถ้าใครยังไม่หมดกิเลส ความโกรธ ก็จะต้องเกิดแทรกคั่น ความไม่โกรธอยู่เรื่อยๆ ตามเหตุ ตามปัจจัย ห้ามไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้เลยใช่ไหมคะ สมมติ ว่า ถ้ามีใครสักคนที่ไม่มีความโกรธเลย ไม่มีความเสียใจเลย ไม่มีความเดือดร้อนใจเลยไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นคนนั้น จะมีความสุขสักแค่ไหนคะ
ว. ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ก็คงจะเป็นสุขอย่างยิ่งทีเดียวค่ะอันนี้ เป็นเรื่องของความโกรธ.ทีนี้ เรื่องของความโลภ ความปรารถนา ความต้องการ ละคะอาจารย์
ส. สำหรับความปรารถนา ความต้องการ ก็เช่นเดียวกันขณะใด ที่ "จิตใจ" เกิดความปรารถนา เกิดความต้องการอะไร ก็จะพะวงถึงแต่สิ่งนั้น ในขณะนั้น "จิตใจ" ตกเป็นทาสของสิ่งนั้น โดยไม่รู้สึกตัว แต่พอหมดความปรารถนา ความต้องการ ก็จะไม่พะวงถึงสิ่งนั้นอีกต่อไป "จิตใจในขณะนั้น" เป็นอิสระ ปลอดโปร่ง อย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย
ถ้า "จิตใจ" ต้องตกเป็นทาส ของความปรารถนา ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เรื่อยๆ ผู้นั้น จะไม่มีโอกาส "รู้" สภาพของ "จิตใจ" ที่ปลอดโปร่ง ผ่องใสซึ่งเป็นสภาพของ "จิตใจ" ที่พ้นจากการเป็นทาสของความปรารถนา ได้เลย ถ้าใคร ไม่ตกเป็นทาสของความปรารถนา ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอีกต่อไปคนนั้น จะมี "จิตใจ" ที่ผ่องใส ไม่เศร้าหมอง และ "เป็นสุข" มากทีเดียวใช่ไหมคะ
ขออนุโมทนา
ขณะใดที่จิตเป็นอกุศล ขณะนั้นจิตเสีย จิตเน่าใน หนทางเดียวที่จะขัดเกลากิเลส คือ การเจริญปัญญา (สติปัฏฐาน) เพื่อละกิเลสจนกว่าจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ไม่มีกิเลสค่ะ
คุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วนะคะ ว่า ความสุข ไม่ได้อยู่ที่เงินทอง หรือ รูปสมบัติ ลาภ ยศ แต่อยู่ที่"จิตใจที่สงบจากกิเลส"พ้นจากอำนาจของกิเลส ที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส เวลาโกรธ กับ เวลาที่ไม่โกรธคุณวันทนาลองเปรียบเทียบดู ว่าขณะไหนจะแจ่มใส ปลอดโปร่ง และ เป็นสุขยิ่งกว่ากัน
ขออนุโมทนาครับ
ขณะที่จิตมีกิเลสย่อมหนัก เดือดร้อน ไม่สงบ ไม่ปลอดโปร่ง ผิดกับขณะที่จิตเบาสบาย ปลอดโปร่ง สงบจากกิเลส
ขออนุโมทนาค่ะ