การอุทิศส่วนบุญให้บุคคลที่ตาย
เรียนถามนะครับว่า การอุทิศส่วนบุญให้บุคคลที่ตายและไปเกิดเป็นเปรต ผู้ที่เราทำบุญด้วยจำเป็นไหมครับว่าท่านจะต้องเป็นพระอริยสงฆ์ครับ หรือทำกับใครก็ได้ครับ แล้วอุทิศให้ และสมมติว่าเราเจริญกุศลบ่อยๆ แต่ไม่ได้ให้ทานและต้องการอุทิศส่วนบุญให้กับเปรตจะสำเร็จไหมครับ
ขอบพระคุณครับ
ทุกครั้งที่เราทำกุศลแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เขาจะได้รับหรือไม่ ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ภพภูมิที่เขาเกิด อีกส่วนหนึ่งก็อยู่ที่การสะสมอุปนิสัยมาที่จะยินดีในกุศล ที่เขาอุทิศให้หรือไม่ เช่น บางคนเห็นคนอื่นทำกุศล จิตเขาไม่ยินดีในกุศลที่คนอื่นทำค่ะ
กุศลที่เป็นไปในทานการให้ มี ๓ อย่าง คือ บุญสำเร็จด้วยการให้ ๑ บุญสำเร็จด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่นอนุโมทนา ๑ บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาในกุศลที่ผู้อื่นทำ ๑
เราควรเลือกให้ทานครับ ขอเทียบเคียงกับพระไตรปิฎกครับ
ทำบุญกับพระทุศีล ... ไม่ได้บุญ เล่ม ๒๓ - หน้าที่ 409
ได้ยินว่า นายพรานนั้นเมื่อให้ทักขิณา (ของทำบุญ) อุทิศถึงผู้ตาย ได้ให้แก่ภิกษุผู้ทุศีล (ละเมิดศีล) รูปหนึ่งนั้นแลถึง ๓ ครั้ง. ในครั้งที่ ๓ อมนุษย์ (ผู้ตาย) ร้องขึ้นว่า ผู้ทุศีลปล้นฉัน ดังนี้. ในเวลาที่พรานนั้นถวายแก่ภิกษุผู้มีศีลรูปหนึ่งมาถึง ผลของทักขิณา (ของทำบุญ) ก็ถึงแก่เขา (ผู้ตาย) .
[[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 409]]
ทำบุญกับนักบวชที่ไม่มีศีล ... ไม่ได้บุญ เล่ม ๔๙ - หน้าที่ 223
... ธิดาของข้าพระองค์บ่นอยู่เนืองๆ ว่า เราจักให้ทานอุทิศให้มารดา บิดา ลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย พวกพราหมณ์กำลังบริโภคทานอันธิดาของข้าพระองค์ตกแต่งแล้ว ข้าพระองค์จะไปยังเมืองอันธกาวินทนคร เพื่อบริโภคอาหาร
พระราชาจึงตรัสสั่งเขาว่า ถ้าท่านไปได้เสวยผลทานนั้น พึงรีบกลับมาบอกเหตุที่มีจริงแก่เรา เราฟังคำอันมีเหตุผลควรเชื่อถือได้แล้ว จักทำการบูชาบ้าง จูฬเศรษฐีเปรตทูลรับพระดำรัสแล้ว ได้ไปยังอันธกาวินทนครนั้น แต่ไม่ได้รับผลแห่งทานนั้น เพราะพราหมณ์ทั้งหลายที่บริโภคภัต เป็นผู้ไม่มีศีล ไม่สมควรแก่ทักษิณา (ของทำบุญ) ภายหลังจูฬเศรษฐีเปรตกลับมาสู่นครราชคฤห์อีก ได้ไปแสดงกายให้ปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าอชาตศัตรูผู้เป็นใหญ่กว่าหมู่ชน พระราชาทอดพระเนตรเห็นเปรตนั้นกลับมาอีก จึงตรัสถามว่า เราจะให้ทานอะไร ถ้าเหตุที่จะให้ท่านอิ่มหนำตลอดกาลมีอยู่ไซร้ ขอท่านจงบอกเหตุนั้นแก่เรา.
[[เล่มที่ 49] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 223]]
การให้ทานของคนฉลาด เล่ม ๓๗ - หน้าที่ 488
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน (ทานของผู้ฉลาด) ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ ให้ของสะอาด ๑ ให้ของประณีต ๑ ให้ตามกาล ๑ (คือ อาหารทั้งหลายที่จะถวายพระต้องก่อนเที่ยงตรงเท่านั้นและต้องไม่ดิบด้วย) ให้ของสมควร ๑ (เงิน – ทอง - ไก่ – หมา – แมว – วัว – ควาย – เสื้อผ้า – ข้าวสาร เป็นต้น ห้ามถวายพระเด็ดขาด) เลือกให้ ๑ (คือต้องรู้จักพิจารณาดูพระที่เราให้ทานด้วยนั้น เป็นพระที่ปฏิบัติได้ถูกต้องตามธรรม – วินัย หรือเปล่า?) ให้เนืองนิตย์ ๑ เมื่อให้ จิตผ่องใส ๑ ให้แล้วดีใจ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้แล.
สัปบุรุษย่อมให้ทาน คือ ข้าวและน้ำที่สะอาด ประณีตตามกาล สมควร เนืองนิตย์ ในผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นเขต (บุญ) ดี บริจาคของมากแล้วก็ไม่รู้สึกเสียดาย ท่านผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมสรรเสริญทานที่สัปบุรุษให้แล้วอย่างนี้ เมธาวีบัณฑิตผู้มีศรัทธา มีใจอันสละแล้ว บริจาคทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุข.
[[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 488]]
เล่มที่ ๔๙ - หน้าที่ 30
บุคคลผู้ไม่ตระหนี่ ควรทำเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง คือปรารภถึงบุรพเปตชน (นึกถึงบรรพบุรุษผู้ตายไป) เทวดาผู้สิงอยู่ในเรือน หรือท้าวมหาราชทั้ง ๔ ผู้รักษาโลก ผู้มียศ คือ ท้าวธตรฐ ๑ ท้าววิรุฬหก ๑ ท้าววิรูปักษ์ ๑ ท้าวกุเวร ๑ ให้เป็นอารมณ์แล้ว พึงให้ทาน ท่านเหล่านั้นเป็นอันบุคคลได้บูชาแล้ว และทายก (ผู้ให้ทาน) ก็ไม่ไร้ผล ความร้องไห้ ความเศร้าโศก หรือความร่ำไห้อย่างอื่น ไม่ควรทำเลย เพราะความร้องไห้เป็นต้นนั้น ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ญาติทั้งหลาย (ที่ตายไป) คงตั้งอยู่ตามธรรมดาของตนๆ อันทักษิณาทาน (สิ่งของทำบุญ) นี้ที่ท่านเข้าไปตั้งไว้ดีแล้วในสงฆ์ให้แล้ว (อุทิศให้ญาติที่ตายไป) ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่บุรพเปตชนโดยทันทีสิ้นกาลนาน.
[[เล่มที่ 49] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 30]]