การตลาดแย่งลูกค้า
วันก่อนได้ฟังธรรมแล้วนึกคิดมาได้ว่าที่ทำการค้าอยู่นี้ น่าจะผิดศีลข้อ 2 ด้วย เพราะคอยแย่งลูกค้าจากคู่แข่งตลอดเวลา จึงอยากทราบว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกหรือเปล่า พอนึกได้แบบนี้ รู้สึกถึงความไร้สาระในทรัพย์ที่เกิดจากลูกค้าที่แย่งมา แต่ก็รู้สึกละอายได้แป๊บเดียวเท่านั้น ก็กลับมากระหยิ่มใจอีกว่าใช้กลยุทธิ์เอาชนะสำเร็จ ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ครับ ในช่วงกัปๆ หนึ่งกว่ากุศลจิตจะเกิดยากมาก แถมชอบตามใจเพื่อนสนิทที่ชื่อโลภะมากเสียด้วยซิ
การจะผิดศีลข้อที่ ๒ คือ อทินนาทาน การลักขโมยนั้น ต้องดูองค์ของศีลด้วยว่าครบองค์หรือไม่ ถ้าเป็นเพียงการใช้วิธีทางการตลาดเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า และให้ลูกค้าตัดสินใจเองว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ลักษณะนี้ไม่เข้าข่ายของการผิดศีลเลย และแต่ละวิธีที่นำมาใช้ก็ควรตรวจสอบกับองค์ของศีลด้วย แต่ถ้าไม่ผิดศีลแล้วมิได้หมายความว่าไม่ใช่กิเลส หรืออกุศลธรรม ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไรก็ไม่พ้นจากกิเลส เว้นแต่ขณะจิตที่เป็นไปในทาน ศีล และภาวนาเท่านั้น ขณะอื่นๆ เช่น อาบน้ำ แต่งตัว เดินทาง รับทานอาหาร ซื้อของ ออกกำลังกาย เป็นต้น ก็เป็นไปกับกิเลสอกุศลธรรมทั้งสิ้นดังนั้นจึงไม่ควรประมาทในการเจริญกุศลธรรมทุกประการ เพราะชีวิตเป็นของน้อย..
ลองเทียบเคียงกับองค์ของอทินนาทานได้ครับ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 190
อทินนาทานนั้น มีองค์ ๕ คือ
๑. ปรปริคฺคหิตํ ของที่เจ้าของหวงแหน ๒. ปรปริคฺคหิตสญฺญิตา รู้อยู่ว่า เป็นของที่เจ้าของหวงแหน
๓. เถยฺยจิตฺตํ จิตคิดลัก ๔. อุปกฺกโม พยายามลัก ๕. เตน หรณํ ลักมาได้ด้วยความพยายามนั้น
อทินนาทานนั้น มี ๖ ประโยค มีสาหัตถิกประโยคเป็นต้นนั่นเอง.และประโยคเหล่านี้แล เป็นไปด้วยอำนาจอวหารเหล่านี้ คือ ๑. เถยยาวหาร ลักโดยการขโมย ๒. ปสัยหาวหาร ลักโดยข่มขี่ ๓. ปฏิจฉันนาวหาร ลักซ่อน ๔. ปริกัปปาวหาร ลักโดยกำหนดของ ๕. กุสาวหาร ลักโดยสับสลาก
การค้าขายหรือแย่งลูกค้ากัน ไม่ได้เป็นอทินนาทาน ไม่ผิดศีลข้อ 2 แต่เป็นอกุศล ใน
สมัยพุทธกาล มีพระโสดาบันเป็นพ่อค้า ท่านก็ต้องทำงานเลี้ยงชีพ ท่านได้เงินมา ก็มาทำบุญให้ทานบำรุงศาสนา ขุมทรัพย์เป็นบุญ โจรหรือไฟก็ไม่สามารถลักขโมยไปได้ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เป็นผู้ตรงในสภาพธรรมธรรม อกุศลเป็นอกุศล กุศลเป็นกุศล แต่อกุศลก็มีหลายระดับ
ระดับที่เป็นเพียงอกุศลจิต ไม่ล่วงศีลจนถึงระดับที่ล่วงศีล พระพุทธองค์ทรงแสดงให้
เห็นโทษแม้อกุศลประมาณเล็กน้อย ไม่มีทรัพย์อะไรจะประเสริฐเท่าอริยทรัพย์คือกุศล
ธรรมที่เกิดขึ้น ทรัพย์อื่นติดตัวไปไม่ได้เลย ประกอบอาชีพด้วยกุศลจิต ด้วยความสุจริต
ช่วยเหลือกัน ทุกคนก็ต้องการทรัพย์แต่ใครจะได้ก็แล้วแต่กรรมและผลของกรรมของแต่
ละบุคคลครับ ไม่ควรลืมว่าทรัย์ที่หามาได้ไม่มีทางติดตัวไปได้เลย ผู้มีปัญญาจึงแสวง
หาทรัพย์ด้วยความสุจริตและนำทรัพย์นั้นเจริญกุศลต่อไปครับ อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์