ผู้เที่ยวไปคนเดียวเหมือนนอแรด [ขัคควิสาณสูตร]
[เล่มที่ 46] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ 94
ขัคควิสาณสูตรที่ ๓
ว่าด้วยผู้เที่ยวไปคนเดียวเหมือนนอแรด
[๒๙๖] บุคคลวางอาชญาในสัตว์ทั้ง ปวงแล้ว ไม่เบียดเบียนบรรดาสัตว์เหล่านั้น แม้ผู้ใดผู้หนึ่งให้ลำบาก ไม่พึงปรารถนาบุตร จะพึงปรารถนาสหายแต่ที่ไหน พึงเที่ยวไป ผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. ความเยื่อใย ย่อมมีแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องกัน ทุกข์นี้ย่อมเกิดขึ้นตามความเยื่อใย บุคคลเล็งเห็นโทษ อันเกิดแต่ความเยื่อใย พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลอนุเคราะห์มิตรสหาย เป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์แล้ว ชื่อว่า ย่อมยังประโยชน์ให้ เสื่อม บุคคลเห็นภัย คือ การยังประโยชน์ ให้เสื่อมในการเชยชิดนี้ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น.
บุคคลข้องอยู่แล้ว ด้วยความเยื่อใย ในบุตรและภริยา เหมือนไม้ไผ่กอใหญ่เกี่ยว ก่ายกัน ฉะนั้น บุคคลไม่ข้องอยู่ เหมือน หน่อไม้ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น. เนื้อในป่าที่บุคคลไม่ผูกไว้แล้ว ย่อมไปหากินตามความปรารถนา ฉันใด นรชน ผู้รู้แจ้ง เพ่งความประพฤติตามความพอใจ ของตน พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น. การปรึกษาในที่อยู่ ที่ยืน ในการไป ในการเที่ยว ย่อมมีในท่ามกลางแห่งสหาย บุคคลเพ่งความประพฤติตามความพอใจ ที่พวกบุรุษชั่วไม่เพ่งเล็งแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น.
การเล่น การยินดี ย่อมมีในท่ามกลางแห่งสหาย อนึ่ง ความรักที่ยิ่งใหญ่ ย่อมมีในบุตรทั้งหลาย บุคคลเมื่อเกลียดชัง ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขาร อันเป็นที่รัก พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น บุคคลย่อมเป็นอยู่ตามสบาย ในทิศทั้งสี่และไม่เดือดร้อน ยินดีด้วยปัจจัยตามมี ตามได้ ครอบงำเสียซึ่งอันตราย ไม่หวาดเสียว พึงเป็นผู้เที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น แม้บรรพชิตบางพวกก็สงเคราะห์ได้ยาก อนึ่ง คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนสงเคราะห์ได้ยาก บุคคลเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ในบุตรของผู้อื่น พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น
นักปราชญ์ละเหตุ อันเป็นเครื่อง ปรากฏแห่งคฤหัสถ์ ดุจต้นทองหลางมีใบร่วงหล่น ตัดเครื่องผูกแห่งคฤหัสถ์ได้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น. ถ้าว่าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญา เครื่องรักษาตน ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้มีปรกติ อยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้ พึงครอบงำอันตรายทั้งปวง เป็นผู้มีใจชื่นชม มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น.
ฯลฯ