โปรดแสดงเรื่องกามฉันทะ
ก็กามฉันท์นี้นั้น พึงทราบว่า ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ด้วยอำนาจความฟุ้งขึ้น หรือด้วยอารมณ์ที่ยังไม่ได้เสวย. จริงอยู่ เมื่อว่าโดยประการอื่น กามฉันท์ชื่อว่าไม่เกิดขึ้นในสงสาร อันไม่ปรากฏเบื้องต้นและเบื้องปลายย่อมไม่มี.ถามว่าอำนาจความฟุ้งขึ้นนั้น ๑. มีอะไรเป็นเหตุ?๒. เกิดขณะใด เกิดทันที หรือสะสมไว้แล้วเกิดภายหลัง?๓. สภาพเป็นอย่างไร?๔. ผลเป็นอย่างไร?๕. หนทางแก้ไขอย่างไร?
๖. และถามว่าด้วยอารมณ์ที่ยังไม่ได้เสวย เป็นอย่างไร?
ขอเชิญอ่านข้อความจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาดังนี้
[๗๔๙] บรรดานิวรณ์ ๖ นั้น กามฉันทนิวรณ์ เป็นไฉน? ความพอใจคือความใคร่ ความกำหนัดคือความใคร่ ความเพลิดเพลินคือความใคร่ ตัณหาคือความใคร่ สิเนหาคือความใคร่ ความเร่าร้อนคือความใคร่ ความสยบคือความใคร่ ความหมกมุ่นคือความใคร่ ในกามทั้งหลายอันใด นี้เรียกว่า กามฉันทนิวรณ์.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 317
เหตุเกิดกามฉันท์
ในนิมิตทั้งสองนั้น กามฉันท์ย่อมเกิดขึ้นเพราะมนสิการโดยไม่แยบคายในสุภนิมิต. สิ่งที่งามก็ดี อารมณ์ที่งามก็ดี ชื่อว่าสุภนิมิต. การใส่ใจโดยไม่มีอุบายการใส่ใจนอกทาง การใส่ใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่า เที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าสุขในสิ่งที่มิใช่ตัวตนว่าตัวตน หรือในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ชื่อว่า อโยนิโสมนสิการ (การใส่ใจโดยไม่แยบคาย) . เมื่อภิกษุทำอโยนิโสมนสิการนั้นให้เป็นไปมากๆ ในสุภนิมิตนั้น กามฉันท์ย่อมเกิดขึ้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุภนิมิตมีอยู่ การทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในสุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหาร เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกามฉันท์ที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อทำให้กามฉันท์ที่เกิดแล้วให้กำเริบยิ่งขึ้นดังนี้. เหตุละกามฉันท์
ส่วนกามฉันท์นั้น จะละได้ก็ด้วยโยนิโสมนสิการ (การใส่ใจโดยแยบคาย) ในอสุภนิมิต. สิ่งที่ไม่งามก็ดี อารมณ์ที่ไม่งามก็ดี. ชื่อว่า อสุภนิมิต.การใส่ใจโดยอุบาย การใส่ใจถูกทาง การใส่ใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าทุกข์ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าไม่ใช่ตัวตน หรือในสิ่งที่ไม่งามว่าไม่งาม ชื่อว่า โยนิโสมนสิการ. เมื่อภิกษุทำโยนิโสมนสิการนั้นให้เป็นไปมากๆ ในอสุภนิมิตนั้น ย่อมละกามฉันท์เสียได้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสุภนิมิตมีอยู่ การทำให้มากๆ ซึ่งโยนิโสมนสิการในอสุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหาร เพื่อความไม่เกิดแห่งกามฉันท์ที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อละกามฉันท์ที่เกิดแล้ว.
ธรรมสำหรับละกามฉันท์
อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละกามฉันท์ คือ ๑.การถืออสุภนิมิตเป็นอารมณ์ ๒. การประกอบเนืองๆ ซึ่งอสุภภาวนา ๓. การรักษาทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๔. ความรู้จักประมาณในโภชนะ ๕. ความมีกัลยาณมิตร ๖. พูดแต่เรื่องที่เป็นสัปปายะ (เป็นที่สบาย) . จริงอยู่ เมื่อภิกษุกำหนดอสุภนิมิต ๑๐ อย่างอยู่ ก็ละกามฉันท์ได้. เมื่อเจริญอสุภ ๑๐ ก็ดี เมื่อปิดทวารในอินทรีย์ทั้งหลายก็ดี รู้จักประมาณในโภชนะ เพราะเมื่อมีโอกาสจะบริโภค ๔-๕ คำมีอยู่ ก็ดื่มน้ำ ยังอัตตภาพให้เป็นไปได้ก็ย่อมละกามฉันท์ได้.เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ (ในขุททกนิกาย เถรคาถา) ว่า จตฺตาโร ปญฺจ อาโลเป อภุตฺวา ปิเว อลํ ผาสุวิหาราย ปหิตตฺตสฺส ภิกฺขุโน ภิกษุพึงเว้นคำข้าวเสีย ๔-๕ คำ เลิก ฉัน แล้วดื่มน้ำเสีย นี้เป็นข้อปฏิบัติอัน สมควรสำหรับภิกษุผู้มีตนอันส่งไปแล้ว. แม้ภิกษุผู้เสพกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นผู้ยินดี ในการเจริญอสุภ เช่นพระติสสเถระ ผู้เจริญอสุภกัมมัฏฐาน ก็ย่อมละกามฉันท์ได้. แม้ด้วยการเจรจาปรารภเรื่องเป็นที่สบาย อันอาศัยอสุภ ๑๐ ในอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้น ก็ย่อมละกามฉันท์ได้. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละกามฉันท์ดังนี้. ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า ก็กามฉันท์ที่ละได้แล้ว ด้วยธรรม๖ ประการนี้ ย่อมไม่เกิดอีกต่อไปด้วยอรหัตตมรรค ...
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
การใส่ใจในความไม่แยบคายในอารมณ์ที่งาม น่าพอใจ ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้กาม-
ฉันทะเกิดขึ้น ธรรมมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นเพราะเป็นผู้หนาด้วยกิเลส การอบรมปัญญา
เพื่อละกามฉันทะก็เป็นไปตามลำดับ ละชั่วคราว จนถึงละได้ไม่เกิดอีกเลย การละกาม-
ฉันทะจึงมีนัยต่างๆ กัน ขออนุโมทนาครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอตอบตามความเห็นส่วนตัวครับ
1. มี อโยนิโสมนสิการ เป็นเหตุ2. สำหรับผู้ที่ยังมีโลภะ ที่จะรู้ว่ากามฉันทะเกิดขณะใด ต้องเป็นผู้มีปกติเจริญสติฯ 3. ติดข้อง ยินดี พอใจ ในอารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ4. ไม่สละอารมณ์นั้น ยึดมั่น ถือมั่น ในอารมณ์นั้น ทั้งๆ ที่นาม/รูปนั้นเกิดแล้ว - ดับแล้ว5. ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะถึงความเป็นพระอนาคามี แต่ก่อนจะถึงขั้นนั้น ต้องเข้าใจความจริงก่อนว่า ธรรมะตัวจริง มีในขณะนี้ ควรรู้ตัวจริงของธรรมะเพื่อที่จะได้เข้าใจ และเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนไม่ควรมุ่งจะที่จะรีบไปละกามฉันทะด้วยความมีตัวตน เพราะนั่นไม่ใช่หนทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง6. สิ่งที่จิตไม่ได้รู้ เช่น เสียงที่ไม่ได้ยิน ย่อมจะไม่มีเวทนาในสิ่งนั้น และเมื่อสิ่งนั้นไม่เป็นอารมณ์ของจิต เวทนาก็ไม่ได้เสวยอารมณ์นั้นเช่นกัน เมื่ออารมณ์นั้นไม่ได้เสวยโดยเวทนา กามฉันทะที่จะอาศัยเวทนาเป็นปัจจัยให้ยินดีติดข้องในเสียงนั้น ก็มีไม่ได้ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ดับความยินดีในกามคุณ ๕ กามฉันทะย่อมเกิดเพราะอาศัยเวทนาเป็นปัจจัย เช่น ดีใจที่เห็นรูปสวย ได้ยินเสียงไพเราะ ได้กลิ่นหอม ฯลฯ ขณะที่กามฉันทะเกิด ขณะนั้นหลงลืมสติ ขาดการพิจารณาโดยแยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) จึงติดข้องในอารมณ์เหล่านั้นที่เวทนาเสวยแล้ว
ธรรมสำหรับละกามฉันท์
อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละกามฉันท์ คือ
๑. การถืออสุภนิมิตเป็นอารมณ์
๒. การประกอบเนืองๆ ซึ่งอสุภภาวนา
๓. การรักษาทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๔. ความรู้จักประมาณในโภชนะ
๕. ความมีกัลยาณมิตร
๖. พูดแต่เรื่องที่เป็นสัปปายะ (เป็นที่สบาย) .
.
.
.
การทวนกระแสของกิเลสยากจริงๆ ค่ะ.
สุภนิมิตรเป็นข้าศึกปุถุชนย่อมสะสมทันที ไม่สามารถโยนิโสมนสิการได้แม้ไม่ยินดีทันที่ แต่สะสมไว้ ย่อมฟุ้งขึ้นได้ในภายหลัง เป็นทุกข์แม้จะโยนิโสมนสิการสุภนิมิตรภายหลัง ย่อมต่อสู้กับข้าศึกพึงโยนิโสมนสิการด้วยอสุภนิมิตรจะชนะได้
อสุภนิมิตร โดยพิจารณาความเป็นปฏิกูลในอาการ 32 ใกล้ตัวกว่าอสุภะ 10ขออนุโมทนากับทุกท่านที่แสดงธรรมครับ
ขอเชิญท่านผู้เจริญ แสดงวิธีโยนิโสมนสิการเมื่อสุภนิมิตรปรากฏเถิด
ขออนุโมทนาครับ
ธรรม ๖ ประการ เพื่อละกามฉันท์ข้างต้นนั้น หากมีคำอธิบายที่ละเอียด และมีตัวอย่างเพื่อความเข้าใจได้ยิ่งๆ ขึ้น น่าจะช่วยให้น้อมมาพิจารณาโดยแยบคายได้ดีนะครับ
หนทางเดียว คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตามครับถ้าจะหาวิธีโยนิโสมนสิการด้วยความเป็นตัวตน ก็เป็นมิจฉาปฏิปทาอีกแล้ว จะไม่มีทางที่จะถึงการดับความยินดีพอใจแม้ในสุภนิมิตด้วยอำนาจของกามฉันทะได้อย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ดี กิเลสที่ควรจะรู้แล้วละคลายก่อนอับดับแรก คือ ความยินดีในความเห็นผิดว่ามีเรา มีตัวตนครับ ไม่ใช่การพยายามหาวิธีข่มโลภะ หรือหาวิธีไม่ให้โลภะเกิดแต่เป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรม มีปกติเจริญสติฯ ระลึกรู้ได้แม้ในขณะที่กำลังติดในสุภนิมิตด้วยอำนาจของกามฉันทะ ว่าขณะนั้นก็เป็นธรรมะ เป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา ให้รู้จริงๆ เสียก่อนว่าเป็นธรรมะ เป็นความจริง แล้วปัญญาจึงจะเจริญต่อไปได้ มิฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ปัญญา ก็จะไปทำอะไรกับโลภะที่เกิดแล้วในขณะนี้ไม่ได้เลย หรือถ้าปัญญาไม่พอ ก็จะดับโลภะที่ยินดีในสุภนิมิตไม่ได้ และถ้าไม่รู้ว่าเป็นธรรมะ ก็จะละอกุศลธรรมใดๆ ไม่ได้เลยเช่นกันครับ