อาบัติทุพภาสิต

 
JANYAPINPARD
วันที่  23 เม.ย. 2552
หมายเลข  12025
อ่าน  7,869

[เล่มที่ 4] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒ หน้าที่ ๘๐

พูดล้อกดกระทบชาติ

[๒๔๖] อุปสัมบันไม่ปรารถนาจะด่า ไม่ปรารถนาจะสบประมาทอุปสัมบัน ไม่ปรารถนาจะทำให้อัปยศ แต่มีความประสงค์จะล้อเล่น จึงพูดกะอุปสัมบันชาติทราม ด้วยกล่าวกระทบชาติทราม คือพูดกะอุปสันบันชาติคนจัณฑาล ชาติคนจักสาน ชาติพราน ชาติคนช่างหนัง ชาติคนเทดอกไม้ ว่าเป็นชาติคนจัณฑาล ว่าเป็นชาติคนจักสาน ว่าเป็นชาติพราน ว่าเป็นชาติคนช่างหนัง ว่าเป็นชาติคนเทดอกไม้ ดังนี้เป็นต้น ต้องอาบัติทุพภาสิต ทุกๆ คำพูด.

พูดล้อยกยอกระทบรูปพรรณ อุปสัมบันไม่ปรารถนาจะด่า ไม่ปรารถนาจะสบประมาทอุปสัมบัน ไม่ปรารถนาจะทำให้อัปยศ แต่มีความประสงค์จะล้อเล่น จึงพูดกะอุปสัมบันมีรูปพรรณอุกฤษฎ์ ด้วยกล่าวกระทบรูปพรรณอุกฤษฎ์ คือพูดกะอุปสัมบันผู้ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป ไม่ดำเกินไป ไม่ขาวเกินไป ว่าท่านเป็นคนไม่สูงนัก ว่าท่านเป็นคนไม่ต่ำนัก ว่าท่านเป็นคนไม่ดำนัก ว่าท่านเป็นคนไม่ขาวนัก ดังนี้เป็นต้น ต้องอาบัติทุพภาสิต ทุกๆ คำพูด.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 23 เม.ย. 2552

[เล่มที่ 10] พระวินัยปิฎก ปริวาร เล่ม ๘ - หน้าที่ ๖๐๙

วิเคราะห์ทุพภาสิต

[๑,๐๔๓] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า ทุพภาสิต ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าวต่อไป บทใด อันภิกษุกล่าวไม่ดี พูดไม่ดี และเศร้าหมอง วิญญูชนทั้งหลายย่อมติเตียน บทใด เพราะเหตุนั้น บทนั้น จึงเรียกว่าทุพภาสิต.

[วิเคราะห์ทุพภาสิต]

เนื้อความแห่งทุพภาสิตคาถา พึงทราบดังนี้:-

บาทคาถาว่า ทุพภาสิตํ ทุราภฏฐํ มีความว่า บทใดอันภิกษุกล่าวคือพูด เจรจาชั่ว เหตุนั้น บทนั้น ชื่อว่าอันภิกษุกล่าวชั่ว:

อธิบายว่า บทใดอันภิกษุกล่าวชั่ว บทนั้น เป็นทุพภาสิต.

มีคำที่จะพึงกล่าวให้ยิ่งน้อยหนึ่ง;

ความว่า อนึ่ง บทใด เศร้าหมองบทนั้น เป็นบทเศร้าหมอง เพราะเหตุใด; อนึ่ง วิญญูชนทั้งหลาย ย่อมติเพราะเหตุใด;

อธิบายว่า ท่านผู้รู้แจ้งทั้งหลาย ติบทนั้น เพราะเหตุใด.

บาทคาถาว่า เตเนตํ อิติ วุจฺจติ มีความว่า เพราะความเป็นบทเศร้าหมองและแม้เพราะความติแห่งวิญญูชนนั้น

บทนั้น ท่านย่อมกล่าวอย่างนั้นคือ บทนั้น ท่านกล่าวว่า ทุพฺภาสิตํ.

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ