ขันติญาณ [วิภังค์]
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 589
อนุโลมิกญาณ ขันติญาณ ทิฏฐิญาณ รุจิญาณ มุติญาณ เปกขญาณ ธัมมนิชฌานขันติญาณ อันใด มีลักษณะรู้อย่างนี้ ว่ารูปไม่เที่ยงดังนี้บ้าง ว่าเวทนาไม่เที่ยงดังนี้บ้าง ว่าสัญญาไม่เทียงดังนี้บ้าง ว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงดังนี้บ้าง ว่าวิญญาณไม่เที่ยงดังนี้บ้าง นี้เรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ.
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 651
คำว่า ขนฺตึ เป็นต้น เป็นไวพจน์ของ ปัญญา ทั้งนั้น. จริงอยู่ปัญญา นั้น ชื่อว่า อนุโลมิกะ เพราะอรรถว่า ย่อมอนุโลม (คือ คล้อยตาม) ซึ่งเหตุอันเป็นการกระทำ ๕ อย่าง มีบ่อเกิดแห่งการงานเป็นต้น ญาณใด ย่อมอดทน ย่อมสามารถ ย่อมอาจเพื่อเห็นซึ่งเหตุเป็นที่กระทำ (การณะ) แม้ทั้งหมดเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น ญาณนั้น จึงชื่อว่าขันติ.
คำว่า ปสฺสติ ได้แก่ ทิฏฐิญาณ. คำว่า โรเจติ ได้แก่ รุจิญาณ. คำว่า มุจติ ได้แก่ มุติญาณ. พระบาลีว่า มุทตีติ มุทีติ ชื่อว่า มุติญาณ ดังนี้ ก็มี.
คำว่า เปกฺขติ ชื่อว่า เปกขญาณ. ธรรมทั้งหลายมีบ่อเกิดแห่งการงานเป็นต้นแม้ทั้งหมดเหล่านั้น ย่อมเข้าไปประจักษ์แจ้ง แก่ญาณนั้น จึงชื่อว่าธัมมนิชฌานขันติญาณ. อนึ่ง เมื่อว่าโดยพิเศษ ธรรมทั้งหลายกล่าวคือ ขันธ์ ๕ เมื่อเข้าไปเพ่งพิจารณา ย่อมให้ประจักษ์แจ้งด้วยสามารถแห่งความเป็นสิ่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาบ่อยๆ เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้น จึงชื่อว่าธัมมนิชฌานขันติญาณ.
ฯลฯ