กรรมนิยาม ธรรมนิยาม จิตนิยาม
[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 84
น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ น ปพฺพตานํ วิวรํ ปวิสฺส น วิชฺชเต โส ชคติปฺปเทโส ยตฺรฏฐิโต มุจฺเจยฺย ปาปกมฺมา ไม่ว่าในที่ใดๆ ในอากาศ ในกลางทะเลหรือในซอกเขา ส่วนภูมิประเทศที่สัตว์สถิตอยู่แล้ว จะพึงพ้นไปจากบาปกรรมได้ ไม่มี ดังนี้. นี้ก็ชื่อว่า กรรมนิยาม เหมือนกัน เรื่อง อื่นๆ แม้เช่นนี้ก็ควรแสดง
อนึ่ง ในเวลาที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลายทรงถือปฏิสนธิ ในเวลาทรงออกจากครรภ์พระมารดา ในเวลาที่ตรัสรู้อภิสัมโพธิญาณ ในเวลาที่พระตถาคต ทรงประกาศพระธรรมจักร ในเวลาที่ทรงปลงอายุสังขาร ในเวลาที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน หมื่นจักรวาลหวั่นไหว นี้ชื่อว่า ธรรมนิยาม. อนึ่ง เมื่ออารมณ์กระทบประสาท ใครๆ เป็นผู้กระทำ หรือสั่งให้กระทำว่า เจ้าจงชื่อว่า อาวัชชนะ ฯลฯ เจ้าจงชื่อว่า ชวนะ ดังนี้ มิได้มีก็ว่าโดยธรรมดาของตนตั้งแต่เวลาที่อารมณ์กระทบประสาทแล้ว จิตที่เป็นกิริยามโนธาตุก็ยังภวังค์ให้เปลี่ยนไป จักขุวิญญาณก็ทำทัสสนกิจ (หน้าที่เห็น) วิบากมโนธาตุก็ทำสัมปฏิจฉันนกิจ (หน้าที่รับอารมณ์) วิบากมโนวิญญาณธาตุก็ทำสันติรณกิจ (หน้าที่พิจารณาอารมณ์) กิริยามโนวิญญาณธาตุก็ทำโวฏฐัพพนกิจ (หน้าที่ตัดสินอารมณ์) ชวนะเสวยรสแห่งอารมณ์ ดังนี้ นี้ชื่อว่าจิตนิยาม ในอธิการนี้ ทรงประสงค์เอาจิตนิยามนี้.