พระพุทธพจน์มี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

 
pornpaon
วันที่  30 เม.ย. 2552
หมายเลข  12144
อ่าน  5,891

[เล่มที่ 1] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 58

[พระพุทธพจน์มี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์]

พระพุทธพจน์มี ๘๔,๐๐๐ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมขันธ์อย่างไร? จริงอยู่ พระพุทธพจน์นั้นทั้งหมดเทียวมี ๘๔,๐๐๐ ประเภทด้วยอำนาจแห่งพระธรรมขันธ์ ที่พระอานนทเถระแสดงไว้แล้วอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าเรียนเอาพระธรรมจากพุทธสำนัก ๘๒,๐๐๐ จากสำนักภิกษุ ๒,๐๐๐ พระธรรมที่เป็นไปในหทัยของข้าพเจ้า จึงมี จำนวน ๘๔,๐๐๐ ดังนี้.

[วิธีคำนวณนับพระธรรมขันธ์เฉพาะขันธ์หนึ่งๆ ]

บรรดาพระธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ นั้น พระสูตรที่มีอนุสนธิเดียว จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์. ในพระสูตรที่มีอนุสนธิมาก นับพระธรรมขันธ์ด้วยอำนาจแห่งอนุสนธิ. ในคาถาประพันธ์ทั้งหลาย คำถามปัญหา (ข้อหนึ่ง) จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์, คำวิสัชนา (ข้อหนึ่ง) จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์.

ในพระอภิธรรม การจำแนกติกะทุกะแต่ละติกะทุกะ และการจำแนกวารจิตแต่ละวารจิต จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์.

ในพระวินัย มีวัตถุ มีมาติกา มีบทภาชนีย์ มีอันตราบัติ มีอาบัติมีอนาบัติ มีกำหนดติกะ บรรดาวัตถุและมาติกาเป็นต้น เหล่านั้น ส่วนหนึ่งๆ พึงทราบว่า เป็นพระธรรมขันธ์อันหนึ่งๆ .

พระพุทธพจน์ (ทั้งหมด) มี ๘๔,๐๐๐ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมขันธ์ ดังพรรณนามาฉะนี้


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 6 พ.ค. 2552

ขอเรียนถามว่า

อันตราบัติ คืออะไรครับ

ในพระวินัย ซึ่งประกอบด้วย ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น มหาวิภังค์ ภิกขุนีวิภังค์ มหาวรรค จุลวรรค แต่ละคัมภีร์ มีกี่พระธรรมขันธ์ และ คัมภีร์ ปริวาร นั้น นับจำนวนพระธรรมขันธ์ รวมใน ๒๑,๐๐๐ ด้วยหรือไม่

ในพระสูตร ซึ่งประกอบด้วย ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย แต่ละนิกาย มีกี่พระธรรมขันธ์ และ ในส่วนท้ายของขุททกนิกาย คือ มหานิทเทส จูฬนิทเทส ปฏิสัมภิทามรรค อปทาน พุทธวงศ์-จริยาปิฎก นั้น ส่วนใดบ้างที่ นับจำนวนพระธรรมขันธ์ รวมใน ๒๑,๐๐๐ ด้วย ผมขอยก โอฆตรณสูตร มา ณ ที่นี่ เพื่อถามว่า พระสูตรนี้ มีกี่พระธรรมขันธ์ครับ

โอฆตรณสูตรที่ ๑

[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๒] เทวดานั้น ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้กราบทูลคำนี้ กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ข้ามโอฆะได้อย่างไร ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท่านผู้มีอายุ เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามโอฆะได้แล้ว ฯ

ท. ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ก็พระองค์ไม่พักไม่เพียร ข้ามโอฆะได้ อย่างไรเล่า ฯ

พ. ท่านผู้มีอายุ เมื่อใด เรายังพักอยู่ เมื่อนั้น เรายังจมอยู่โดยแท้ เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้น เรายังลอยอยู่โดยแท้ ท่านผู้มีอายุ เราไม่พัก เราไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้แล ฯ

เทวดานั้นกล่าวคาถานี้ว่า นานหนอ ข้าพเจ้าจึงจะเห็นขีณาสวพราหมณ์ผู้ดับรอบแล้วไม่พัก ไม่เพียรอยู่ ข้ามตัณหาเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในโลก ฯ

[๓] เทวดานั้นกล่าวคำนี้แล้ว พระศาสดาทรงอนุโมทนา ครั้งนั้นแล เทวดานั้นดำริว่า พระศาสดาทรงอนุโมทนาคำของเรา จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วก็หายไป ณ ที่นั้นแล ฯ

ผมขออ้างอิง มหาโคสิงคสาลสูตร มา ณ ที่นี่ เพื่อถามว่า พระสูตรดังกล่าว มีกี่พระธรรมขันธ์ครับ

[เล่มที่ 91] พระอภิธรรมปิฎก ปัฏฐาน เล่ม ๗ ภาค ๗ - หน้า 24

ผมทราบมานานแล้วว่า ผมเป็นเพียงผู้เลี้ยงโค มิใช่ทายาท ไม่อาจบริโภคปัญจโครส ณ ขณะนี้ได้ แต่ว่ากระทู้นี้ ทำให้ผมรู้สึกตัวว่าผมไม่รู้แม้เพียงการนับจำนวนโค เป้าหมายก็เลย ดูห่างไกลออกไป

ดังนั้น ขอได้โปรดสอนวิธีนับ ให้แก่ผมด้วย

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prachern.s
วันที่ 6 พ.ค. 2552

คำว่า อันตราบัติ เป็นชื่อของอาบัติที่ภิกษุต้องในระหว่าง คือภิกษุต้องอาบัติหนัก (สังฆาทิเสส) ในระหว่างการประพฤติวัตรเพื่อออกจากอาบัติ ต้องอาบัติหนักซ้ำอีก ดังข้อความในอรรถกถาปริวาระว่า ส่วนในกุรุนทีแก้ว่า อาบัติที่ต้องก่อน ชื่อปุพพาบัติ อาบัติที่ต้องในเวลาที่ควรแก่มานัตต์ ชื่ออปราบัติ อาบัติที่ต้องในปริวาส ชื่ออันตราบัติแห่งปุพพาบัติ อาบัติที่ต้องในขณะประพฤติมานัตต์ ชื่ออันตราบัติแห่งอปราบัติ

ส่วนวิธีนับตามนัยของอรรถกถา ถ้าเป็นโอฆตรณสูตรที่ท่านยกมา ควรจะนับเป็นจำนวน ๓ พระธรรมขันธ์ครับ และแต่ละนิกายมีการนับไม่เหมือนกัน

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suwit02
วันที่ 6 พ.ค. 2552

ขอบพระคุณครับ

อ.ประเชิญตอบคำถามของผมไปหลายส่วนแล้ว ผมยังรอคอยคำเฉลยส่วนที่ยังเหลือ จากทุกๆ ท่านนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jaturong
วันที่ 23 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 23 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 30 ธ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ