ปวิเวกกถา, อสังสัคคกถา, วิริยารัมภกถา และศีลกถา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 403
วิเวก ในบทว่า ปวิเวกกถา นี้ มี ๓ อย่าง คือ กายวิเวก ๑จิตวิเวก ๑ อุปธิวิเวก ๑ ใน ๓ อย่างนั้น ความที่ภิกษุละความอยู่คลุกคลีด้วยหมู่แล้วอยู่สงัดในกิจทั้งปวงในทุกอิริยาบถอย่างนี้ คือ รูปหนึ่งเดินรูปหนึ่งยืน รูปหนึ่งนั่ง รูปหนึ่งนอน รูปหนึ่งเข้าบ้านบิณฑบาต รูปหนึ่งกลับ รูปหนึ่งก้าวไป รูปหนึ่งอธิษฐานจงกรม รูปหนึ่งเที่ยวไปรูปหนึ่งอยู่ ชื่อว่ากายวิเวก. อนึ่ง สมาบัติ ๘ ชื่อว่า จิตวิเวก. พระ-นิพพาน ชื่อว่าอุปธิวิเวก. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่าก็สำหรับผู้ปลีกกายออกผู้ยินดีในเนกขัมมะ จัดเป็นกายวิเวก สำหรับผู้มีจิตบริสุทธิ์ ถึงความผ่องแผ้วอย่างยิ่ง จัดเป็นจิตวิเวก สำหรับผู้หมดอุปธิกิเลสผู้ถึงวิสังขาร จัดเป็นอุปธิวิเวก. วิเวกนั้นแหละ คือปวิเวก. กถาที่เกี่ยวด้วยความสงัด ชื่อว่าปวิเวกกถา. สังสัคคา ในบทว่า อสํสคฺคกถา ความที่ภิกษุละความคลุกคลีด้วยคฤหัสถ์อันไม่เป็นไปตามอนุโลม และความคลุกคลีอันเป็นเหตุเกิดกิเลสกับเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุคลุกคลีด้วยคฤหัสถ์อยู่มีความคลุกคลีอันไม่เป็นไปตามอนุโลม มีโศกด้วยกัน ยินดีด้วยกันเมื่อเขาสุขก็สุข เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ ถึงความขวนขวายในกรณียกิจที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง ดังนี้ทั้งหมดเสียได้ เข้าไปตั้งเฉพาะซึ่งธรรมทั้งปวง คือความสังเวชในสงสารอันมั่นคงกว่า ความสำคัญในสิ่งที่มีสังขารว่าเป็นภัย
อย่างแรงกล้า ความสำคัญในร่างกายว่าเป็นสิ่งปฏิกูล มีหิริและโอตตัปปะอันมีการเกลียดอกุศลทั้งหมดเป็นตัวนำ ทั้งมีสติและสัมปชัญญะในการกระทำทุกอย่าง แล้วไม่มีความติดข้องในธรรมทั้งปวง เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัวฉะนั้นนี้ ชื่อว่าอสังสัคคะ เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อสังสัคคะทั้งปวง กถาอันเกี่ยวด้วยอสังสัคคะ ชื่อว่า อสังสัคคกถา. ฯลฯ ในบทว่า วีริยารมฺภกถา นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. ภาวะแห่งบุคคลผู้แกล้วกล้า หรือกรรมแห่งบุคคลผู้แกล้วกล้า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวิริยะอีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิริยะ เพราะอันบุคคลพึงดำเนินไป คือ พึงให้เป็นไปตามวิธี ก็ความเพียรนั้น คือ การเริ่มเพื่อละอกุศลธรรม (และ) ให้กุศลธรรมเกิดขึ้น ชื่อว่า วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร. วิริยา-รัมภะนั้น มี ๒ อย่าง คือ เป็นไปทางกาย ๑ เป็นไปทางจิต ๑ มี ๓ อย่าง คือ อารัมภธาตุ ๑ นิกกมธาตุ ๑ ปรักกมธาตุ ๑ มี ๔อย่างด้วยอำนาจสัมมัปปธาน ๔. วิริยารัมภะทั้งหมดนั้น พึงทราบด้วยอำนาจการปรารภความเพียรอย่างนี้ ของภิกษุผู้ไม่ให้กิเลสที่เกิดขึ้นในตอนเดินถึงในตอนยืน ที่เกิดในตอนยืนไม่ให้ถึงตอนนั่ง ที่เกิดขึ้นในตอนนั่งไม่ให้ถึงตอนนอน ข่มไว้ด้วยพลังความเพียรไม่ให้เงยศีรษะขึ้นได้ในอิริยาบถนั้นๆ เหมือนคนเอาไม้มีลักษณะดังเท้าแพะกดงูเห่าไว้ และเหมือนเอาดาบที่คมกริบฟันคอศัตรูฉะนั้น. กถาอันเกี่ยวด้วยวิริยารัมภะนั้น ชื่อว่า วิริยารัมภกถา ศีลในบทว่า ศีลกถาเป็นต้น มี ๒ อย่าง คือ โลกิยศีล ๑ โลกุตร-ศีล ๑. ในศีล ๒ อย่างนั้น โลกิยศีล ได้แก่ปาริสุทธิศีล ๔ มีปาติ-โมกขสังวรศีลเป็นต้น. โลกุตรศีล ได้แก่มรรคศีล และผลศีล. อนึ่ง สมาบัติ ๘ พร้อมด้วยอุปจาระอันเป็นบาทแห่งวิปัสสนา ชื่อว่าโลกิยสมาธิก็ในที่นี้ สมาธิที่สัมปยุตด้วยมรรค ชื่อว่า โลกุตรสมาธิ. ฝ่ายปัญญาก็เหมือนกัน ที่สำเร็จด้วยการฟัง สำเร็จด้วยการคิด ที่สัมปยุตด้วยฌานและวิปัสสนาญาณ จัดเป็นโลกิยปัญญา แต่ในที่นี้ เมื่อว่าโดยพิเศษพึงยึดเอาวิปัสสนาปัญญา. ปัญญาที่สัมปยุตด้วยมรรคและผล จัดเป็นโลกุตรปัญญา. แม้วิมุตติ ก็ได้แก่วิมุตติอันสัมปยุตด้วยอริยผล และนิพพาน. ฝ่ายอาจารย์อีกพวกหนึ่ง พรรณนาความในข้อนี้ไว้ ด้วยอำนาจแม้ตทังควิมุตติ มรรคศีล และผลศีล.. แม้วิมุตติ-ญาณทัสสนะ ก็ได้แก่ปัจจเวกขณญาณ ๑๙. กถาอันเป็นไปด้วยอำนาจการประกาศโทษและอานิสงส์ มีอาการเป็นอเนกแห่งคุณมีศีลเป็นต้นเหล่านี้ พร้อมด้วยวิธีมีการชี้แจงเป็นต้น และด้วยอำนาจการประกาศโทษแห่งความเป็นผู้ทุศีลเป็นต้น อันเป็นข้าศึกต่อคุณมีศีลเป็นต้นนั้น หรือกถาอันเกี่ยวด้วยอานิสงส์และโทษของศีลนั้น ชื่อว่ากถาว่าด้วยศีลเป็นต้น.