นัยของปาติโมกข์

 
pornpaon
วันที่  5 พ.ค. 2552
หมายเลข  12222
อ่าน  2,538

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 391

บรรดาบทเหล่านั้น

บทว่า ปาติโมกฺขํ ได้แก่ ศีลในสิกขาบท จริงอยู่ ศีลในสิกขาบทนั้น

ชื่อว่า ปาติโมกข์ เพราะอรรถว่า ทำบุคคลผู้ปกปักรักษาสีลสิกขาบทนั้น ให้หลุดพ้นจากทุกข์มีทุกข์ในอบายเป็นต้น

การปิดกั้น ชื่อว่า สังวร ได้แก่ การไม่ล่วงละเมิดทางกายและวาจา สังวรคือปาติโมกข์ ชื่อว่าปาติโมกขสังวร ภิกษุผู้สำรวม คือมีกายและวาจาปิดด้วยปาติโมกขสังวรนั้น จึงชื่อว่าสำรวมด้วยปาติโมกขสังวร. นี้เป็นการแสดงภาวะที่ภิกษุนั้นตั้งอยู่ในศีลนั้น

บทว่า วิหรติ เป็นบทแสดงภาวะที่ภิกษุพรั่งพร้อมด้วยการอยู่อันสมควรด้วยปาติโมกขสังวรนั้น

บทว่า อาจารโคจรสมฺปนฺโน เป็นบทแสดงถึงธรรมอันมีอุปการะแก่ปาติโมกขสังวรในเบื้องต่ำ และแก่ความพากเพียรเพื่อคุณวิเศษในเบื้องสูง

บทว่า อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี เป็นบทแสดงภาวะที่ภิกษุไม่เคลื่อนจากปาติโมกขศีลเป็นธรรมดา

บทว่า สมาทาย เป็นบทแสดงการยึดเอาสิกขาบทโดยไม่มีส่วนเหลือ

บทว่า สิกฺขติ เป็นบทแสดงภาวะที่ภิกษุพรั่งพร้อมด้วยการศึกษา

บทว่า สิกฺขาปเทสุ เป็นบทแสดงธรรมที่ควรศึกษา

อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า ปาติ เพราะมีปกติตกไปในอบายมากครั้งเพราะกิเลสรุนแรง เพราะการทำความชั่วทำได้ง่าย และเพราะการทำบุญทำได้ยาก ได้แก่ ปุถุชน

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปาติ เพราะถูกกำลังกรรมซัดไปในภพเป็นต้น โดยภาวะไม่เที่ยง และมีปกติไปโดยการหมุนไปโดยกำหนดไม่ได้ เหมือนโพงน้ำ เหมือนหม้อเครื่องยนต์

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปาติ เพราะมีปกติตกไปแห่งอัตภาพในสัตวนิกายนั้นๆ ด้วยอำนาจมรณะ หรือสันดานของสัตว์คือจิตนั่นเอง

ชื่อว่า ปาฏิโมกข์ เพราะยังผู้ตกไปนั้นให้พ้นจากสังสารทุกข์ ก็สัตว์ ที่เรียกว่า วิมุตตะ เพราะจิตหลุดพ้น สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้มีจิตผ่องแผ้วย่อมบริสุทธิ์ และกล่าวไว้ว่า จิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยึดมั่น

อีกอย่างหนึ่งชื่อว่า ปาติ เพราะตกไป คือไป ได้แก่เป็นไปในสงสาร ด้วยเหตุมีอวิชชาเป็นต้น สมจริงดังกล่าวไว้ว่า สัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้นมีตัณหาเป็นเครื่องผูก แล่นไป ท่องเที่ยวไป

ธรรม ชื่อว่า ปาฏิโมกขะ เพราะเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ตกไปนั้นพ้นจากสังกิเลส ๓ มีตัณหาเป็นต้น พึงทราบความสำเร็จสมาส เหมือนความสำเร็จคำมีอาทิว่า ตณฺหากาโล

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปาติ เพราะทำสัตว์ให้ตกไป คือให้ตกไปไม่เหลือจากทุกข์ ได้แก่ จิต สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า สัตวโลกถูกจิตนำไป คือเป็นไปตามจิต

ชื่อว่า ปาฏิโมกข์ เพราะเป็นเครื่องทำสัตว์ผู้ตกไปนั้นให้พ้นไป (จากทุกข์)

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปาติ เพราะเป็นเครื่องตกไปในอบายทุกข์และสังสารทุกข์ของสัตว์ ได้แก่สังกิเลสมีตัณหาเป็นต้น. สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ตัณหา ย่อมยังบุรุษให้เกิด และกล่าวไว้ว่า บุรุษมีตัณหาเป็นเพื่อนสอง

ชื่อว่า ปาฏิโมกข์ เพราะพ้นจากการตกไปจากตัณหาสังกิเลสนั้น

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปาติ เพราะเป็นที่ตกไปของสัตว์ ได้แก่อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า สัตวโลกเกิดพร้อมในอายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ ย่อมทำการชมเชยในอายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖

ชื่อว่า ปาฏิโมกข์ เพราะพ้นจากการตกไป กล่าวคืออายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ นั้น

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปาติ คือ สงสาร เพราะมีการตกไป คือการทำให้ตกไป ชื่อว่าปาฏิโมกข์เพราะหลุดพ้นจากสงสารนั้น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
pornpaon
วันที่ 5 พ.ค. 2552

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 393

อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ธรรมิศร ชาวโลกเฉลิมพระนามว่า ปติ เพราะเป็นอธิบดีของสรรพโลก

ชื่อว่า โมกขะ เพราะเป็นเครื่องพ้นของสัตว์.

ชื่อว่า ปติโมกข์ เพราะเป็นเครื่องพ้นแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ได้นามว่า ปติ เหตุทรงบัญญัติไว้ ปติโมกข์นั่นแหละ เป็นปาฏิโมกข์

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปติโมกข์ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นชื่อว่าเป็นใหญ่ โดยอรรถว่ามีคุณทั้งปวงสูงสุดอันมีคุณนั้นเป็นมูล และชื่อว่าเป็นผู้พ้น โดยอรรถตามที่กล่าวแล้ว ปติโมกข์นั้นแหละ เป็นปาฏิโมกข์. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า คำว่า ปาฏิโมกข์ นี้เป็นมุขและเป็นประมุข

พึงทราบพิสดารดังต่อไปนี้ อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า ใช้ในอรรถว่า ปการะ ศัพท์ว่า อติเป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่า อัจจันตะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าปาฏิโมกข์เพราะพ้นล่วงส่วน โดยทุกประการ

จริงอยู่ ศีลนี้ ชื่อว่า ปาฏิโมกข์ เพราะตัวศีลทำให้หลุดพ้นได้จริง ด้วยตทังควิมุตติ ที่ประกอบด้วยสมาธิและปัญญาทำให้หลุดพ้นได้จริง ด้วยอำนาจวิกขัมภนวิมุตติ และสมุจเฉทวิมุตติ

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อ ปฏิโมกข์ เพราะหลุดพ้นเฉพาะ อธิบายว่า หลุดพ้นจากวีติกกมโทษนั้นๆ เฉพาะอย่าง ปฏิโมกข์นั้นแหละ เป็นปาฏิโมกข์ หรือว่า นิพพาน ชื่อว่า โมกขะ

ชื่อว่า ปฏิโมกข์ เพราะเปรียบกับโมกขะนั้น จริงอยู่ ศีลสังวร เป็นเหตุทำพระนิพพานให้เกิดขึ้น เหมือนพระอาทิตย์ทำอรุณให้เกิด และมีส่วนเปรียบด้วยพระนิพพานนั้น เพราะทำกิเลสให้ดับตามสมควร ปฏิโมกข์นั้นแหละ เป็นปาฏิโมกข์.

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปฏิโมกข์ เพราะแปรไป คือทำทุกข์ให้พ้นไป ปฏิโมกข์นั้นแหละ เป็นปาฏิโมกข์ ในข้อนี้ พึงทราบความศัพท์ว่า ปาฏิโมกข์เท่านี้ อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ ชื่อว่า สังวร เพราะเป็นเครื่องปิดกั้น สังวร คือปาฏิโมกข์ ชื่อว่าปาฏิโมกขสังวร แต่เมื่อว่าโดยความหมาย ได้แก่ งดเว้นจากโทษที่พึงก้าวล่วงนั้นๆ และเจตนา

ภิกษุผู้เข้าถึง ประกอบด้วยปาฏิโมกขสังวรนั้นท่านเรียกว่า ผู้สำรวมด้วยปาฏิโมกขสังวร สมจริงดังที่ตรัสไว้ในคัมภีร์วิภังค์ว่า

ภิกษุเป็นผู้เข้าถึง เข้าถึงพร้อม มาถึง มาถึงพร้อม เข้าใกล้เข้าใกล้พร้อม ประกอบด้วยปาฏิโมกขสังวรนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่าผู้สำรวมด้วยปาฏิโมกขสังวร

บทว่า วิหรติ ความว่า ย่อมอยู่ คือผลัดเปลี่ยน ได้แก่ผลัดเปลี่ยนไป ด้วยอิริยาบถวิหาร

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 2 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 9 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ