ธรรมกาย เป็นชื่อของพระตถาคต
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 150
[๕๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนว่าเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งหลายแล มีชาติต่างกัน มีชื่อต่างกัน มีโคตรต่างกัน ออกจากเรือนมาบวชเป็นบรรพชิต ถูกเขาถามว่า ท่านเป็นพวกไหนดังนี้ พึงตอบเขาว่า พวกเราเป็นพวกพระสมณะศากยบุตรดังนี้.
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ผู้ใดแลมีศรัทธาในพระตถาคต ตั้งมั่น เกิดแต่มูลราก ตั้งมั่นอย่างมั่นคง อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกให้เคลื่อนย้ายไม่ได้ ควรจะเรียกผู้นั้นว่า เราเป็นบุตรเกิดแต่พระอุระ เกิดจากพระโอษฐ์ ของพระผู้มีพระภาค เกิดจากพระธรรม พระธรรมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพระธรรมดังนี้.
ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะคำว่า ธรรมกายก็ดี พรหมกายก็ดี ธรรมภูตก็ดี พรหมภูตก็ดี เป็นชื่อของพระตถาคต.
คำว่า ธมฺมกาโย อิติปิ ความว่า เพราะเหตุไร พระตถาคตจึงได้รับขนานนามว่า ธรรมกาย.
เพราะพระตถาคตทรงคิดพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎกด้วยพระหทัยแล้ว ทรงนำออกแสดงด้วยพระวาจา. ด้วยเหตุนั้น พระวรกายของพระผู้มีพระภาคจึงจัดเป็นธรรมแท้เพราะสำเร็จด้วยธรรม. พระธรรมเป็นกายของพระผู้มีพระภาคนั้นดังพรรณนา. มานี้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่าธรรมกาย. ชื่อว่าพรหมกายเพราะมีธรรมเป็นกายนั่นเอง แท้จริงพระธรรมท่านเรียกว่าพรหมเพราะเป็นของประเสริฐ.
บทว่า ธมฺมภูโต ได้แก่สภาวธรรม. ชื่อว่า พรหมภูต เพราะเป็นผู้เกิดจากพระธรรมนั่นเอง.