ภิกษุที่ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  6 พ.ค. 2552
หมายเลข  12244
อ่าน  5,737

ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อรัญญวัคคที่ ๔ อรัญญกสูตรพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุที่ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ ...

ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะโง่เขลา เพราะหลงงามงาย ๑

มีปรารถนาลามกถูกความอยากครอบงำจึงถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๑

ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะเป็นบ้าเพราะจิตฟุ้งซ่าน ๑

ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เพราะรู้ว่าเป็นวัตรอันพระพุทธเจ้าและสาวกแห่งพระพุทธเจ้าสรรเสริญ ๑

ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปราถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ ๑

ข้อความต่อไปมีว่า ....

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้แล ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นประธาน สูงสุด และดีกว่าภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ พวกนี้ เปรียบเหมือนนมสดเกิดจากโค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น หัวเนยใสเกิดจากเนยใส หัวเนยใสชาวโลกย่อมกล่าวว่าเป็นยอดในจำพวกโครส ๕ เหล่านั้นฉันใด

บรรดาภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ เป็นเลิศ ประเสริฐ เป็นประธานสูงสุดและดีกว่าภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน

จบสูตรที่ ๑

ทำไมจึงมีภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เพราะโง่เขลา เพราะหลงงมงาย บางท่านคิดว่าอยู่ป่าแล้วก็จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ผู้ที่เข้าใจอย่างนั้นเป็นผู้อยู่ป่าเพราะโง่เขลาหรือเพราะงมงายหรือไม่ ถ้าเข้าใจเหตุผลแล้วจะเห็นว่าไม่มีชีวิตใดที่ประเสริฐยิ่งกว่าบรรพชิตผู้สละชีวิตฆราวาส ไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาค ซึ่งไม่ใช่การไปสู่สำนักปฏิบัติเพียงชั่วครู่ชั่วยาม เพื่อต้องการบรรลุมรรคผล เพราะคิดว่าการไปทำวิปัสสนาที่สำนักปฏิบัติซึ่งไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ นั้นจะเป็นเหตุให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ซึ่งถ้าเป็นจริงเช่นนั้น คฤหัสถ์ที่ไปทำวิปัสสนาที่สำนักปฏิบัติก็ควรแก่การสรรเสริญยิ่งกว่าพระภิกษุในสำนักของพระผู้มีพระภาค ซึ่งท่านมีชีวิตตามปรกติธรรมดาตามพระวินัยบัญญัติ คือ บิณฑบาต ฟังธรรม สนทนาธรรม และ กระทำกิจต่างๆ ของสงฆ์ด้วย

ถ. ที่ว่าไม่ใช่อัธยาศัยนี้ก็เข้าใจ แต่ถ้าจะฝืนอัธยาศัยไม่เป็นการสมควรหรือ

สุ. อันนี้ต้องพิจารณาเหตุผลให้ถูกต้อง มีพระภิกษุจำนวนมากทีเดียวที่ไม่ได้อยู่ป่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงบังคับให้เจริญสติปัฏฐานในป่า หรือในห้อง หรือในสถานที่ที่ไม่ให้ทำกิจอะไรเลย พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการอยู่ป่า ทรงสรรเสริญการไม่คลุกคลี ทรงสรรเสริญทุกอย่างที่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ แต่มิได้ทรงบังคับ มิได้ทรงวางกฎเกณฑ์ในการอบรมเจริญปัญญา เพราะพระองค์ทรงรู้อัธยาศัยของสัตว์โลก

พระองค์ทรงแสดงธรรมให้พุทธบริษัทเข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง เพื่อขัดเกลากิเลสที่มีอยู่ ตามปรกติ ตามความเป็นจริง ด้วยการเจริญสติปัฏฐานตามเพศของบรรพชิตและคฤหัสถ์ เมื่อสติระลึกรู้พิจารณาศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยนั้น ก็จะสังเกตได้ว่าค่อยๆ ละนิสัยเก่าที่เคยเพลินไปทางตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ไปทีละน้อย เป็นอัธยาศัยจริงๆ ไม่ใช่ฮวบฮาบเป็นพักๆ ไม่ใช่อย่างที่บางท่านกล่าวว่า สถานที่ปฏิบัตินั้นไม่ควรทาสีเพราะทำให้เกิดโลภะ แต่พอกลับบ้านก็ทาสีบ้าน ปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ตามอัธยาศัยแท้จริงที่สะสมมา

พระผู้มีพระภาคอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรมซึ่งเป็นสัจจธรรม เป็นความจริงเพี่อให้เกิดความเห็นถูกในเหตุและผลของสภาพธรรมทั้งหลาย ทรงแสดงการอบรมเจริญปัญญาด้วยการเจริญสติปัฏฐาน เพื่อละคลายอนุสัยกิเลสที่ประจำอยู่ในจิต ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันมาในอดีตอนันตชาติจนถึงขณะนี้ อวิชชาความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม และความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนนั้นเป็นอนุสัยกิเลส ไม่ว่าจะเห็นขณะใด ได้ยินขณะใด ลิ้มรส รู้โผฐฐัพพะ คิดนึก สุข ทุกข์ ขณะใด ก็ยึดถือว่าเป็นตัวตนทั้งสิ้น

ฉะนั้น ทางเดียวที่จะละอนุสัยกิเลสได้ ก็คือ เจริญสติ พิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และรู้ชัดขึ้นเป็นลำดับจนถึงวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งเป็นความสมบูรณ์ของปัญญา ที่ประจักษ์แจ้งลักษณะต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น

การอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่การพยายามสร้างทุกข์ให้เกิดขึ้น ด้วยการนั่ง นอน ยืน เดินนานๆ เพื่อให้เกิดทุกขเวทนา แต่เป็นการระลึกรู้พิจารณาศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามปรกติ ตามความจริง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วตามเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 6 พ.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เข้าใจ
วันที่ 26 มิ.ย. 2555

กราบขอบพระคุณครับ

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
edu
วันที่ 27 มิ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับผม...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
วิริยะ
วันที่ 19 เม.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นายเอกชัย
วันที่ 23 พ.ค. 2561

ขออนุโมทนาครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 21 มี.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ