ปัญหาของพระอานนท์ [ปฐมอานันทสูตร]

 
JANYAPINPARD
วันที่  7 พ.ค. 2552
หมายเลข  12271
อ่าน  1,807

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 254

๓. ปฐมอานันทสูตร

ว่าด้วยปัญหาของพระอานนท์

[๑๓๘๐] กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอย่างหนึ่งอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๔ ข้อให้บริบูรณ์ ธรรม ๔ข้ออันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๗ ข้อให้บริบูรณ์ธรรม ๗ ข้อ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๒ ข้อให้บริบูรณ์ มีอยู่หรือหนอ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มีอยู่ อานนท์.

[๑๓๘๑] อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ธรรมอย่างหนึ่งอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๔ ข้อให้บริบูรณ์ ธรรม ๔ ข้อ ...ธรรม ๗ ข้อ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๒ ข้อให้บริบูรณ์ เป็นไฉน. พ. ดูก่อนอานนท์ ธรรมอย่างหนึ่ง คือ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์.

[๑๓๘๒] ดูก่อนอานนท์ ก็สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า จักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมรู้ชัดว่า จักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า ในสมัยใด ภิกษุเมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจเข้า ในสมัยนั้นภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเรากล่าวกายอันหนึ่ง ในบรรดากายทั้งหลาย ซึ่งได้แก่ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าเพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

[๑๓๘๓] ดูก่อนอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุสำเหนียกว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติหายใจออก หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้สุขหายใจออก . . . หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก . . . หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจออก . . . หายใจเข้า ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้น เพราะเหตุไรเพราะเรากล่าวเวทนาอันหนึ่งในบรรดาเวทนาทั้งหลาย ซึ่งได้แก่การกระทำไว้ในใจให้ดีซึ่งลมหายใจออกและลมหายใจเข้า เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 7 พ.ค. 2552

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 256

[๑๓๘๔] ดูก่อนอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า จักเป็นผู้กำหนดจิตหายใจออก. . . หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้บันเทิงหายใจออก .. . หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักตั้งจิตมั่นหายใจออก . . หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจออก . . หายใจเข้า ในสมัยนั้นภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา เละโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราไม่กล่าวซึ่งการเจริญสมาธิอันสัมปยุตด้วยอานปานสติ สำหรับผู้มีสติหลงลืม ไม่มีสัมป-ชัญญะ เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้. [๑๓๘๕] ดูก่อนอานนท์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจออก... หายใจเข้าย่อมสำเหนียกว่าจักพิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัดหายใจออก . . . หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นโดยความดับหายใจออก . . . หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก . . . หายใจเข้า ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสนั้นด้วยปัญญา จึงวางเฉยเสียได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นแหละอานนท์ ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียรมีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้.

[๑๓๘๖] ดูก่อนอานนท์ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์

[๑๓๘๗] ดูก่อนอานนท์ ก็สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไรกระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ ในสมัยใด ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ในสมัยนั้น สติของเธอย่อมตั้งมั่น ไม่หลงลืมในสมัยใด สติของภิกษุตั้งมั่น ไม่หลงลืม ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ชื่อว่าเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์แก่ภิกษุ ในสมัยนั้น เธอมีสติอยู่อย่างนั้นย่อมค้นคว้า พิจารณา สอดส่องธรรมนั้นด้วยปัญญา.

ฯลฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 10 พ.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 8 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kornisasuwan
วันที่ 5 ม.ค. 2567

กราบสาธุ ขออนุโมทนาในการได้อ่านกระทู้ความข้อ"อานาปานสติ"นี้ ทำให้ไขความกระจ่างในใจตน พ้นจากความสงสัยในคำว่า "โพชฌงค์7 เสียได้" ในทันที และขอกราบอนุโมทนากับท่านที่นำคำของพระพุทธองค์ทรงตอบปัญหาของท่านพระอานนท์ในวันนี้ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kornisasuwan
วันที่ 5 ม.ค. 2567

เนื่องจากกระทู้นี้ "อันเป็นการเจริญ อานาปานสติ"

ซึ่งมีผู้เข้ามาตอบว่า อานาปานสติ เป็นชื่อหนึ่งของ สติปัฏฐาน ก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อดิฉันผู้ซึ่งกำลังศึกษา ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวท มาเป็นลำดับๆ โดยการฟังธรรมตามกาลอยู่เสมอๆ และเมื่อใดก็ตามที่เกิดความติดข้องสงสัยในการพิจารณาธรรมแต่ละหนึ่งๆ ที่เข้าใจยากมาก ก็จะเวียนวิริยะเข้ามาหาข้อมูลจากในเวปของบ้านธัมมะเป็นประจำ จนได้ความกระจ่างกลับไปทุกครั้งเป็นบ่อยๆ ครั้งที่ ก็อดที่จะขอเข้ามาพิมพ์ตอบขอบพระคุณในความเกื้อกูลของมิตรสหายธรรม เพื่อเป็นการขยายความให้เพื่อนกัลยาธรรมเกิดความปิติยินดีที่ได้อ่านบ้างนะคะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ