อธิบายความปรารถนาลามก [วิภังค์]

 
JANYAPINPARD
วันที่  7 พ.ค. 2552
หมายเลข  12279
อ่าน  1,710

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 878

ปาปิจฉตานิทเทส อธิบายความปรารถนาลามก พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า บางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา เมื่อปรารถนาอย่างนี้ว่า ขอชนจงรู้ว่า เราเป็นผู้มีศรัทธา เป็นต้น ย่อมทำอาการอย่างไร คือ บุคคลนั้น ไม่มีศรัทธา ย่อมแสดงอาการว่า มีศรัทธา ผู้ทุศีลเป็นต้น ย่อมแสดงอาการของผู้มีศีลเป็นต้น. ถามว่า ย่อมแสดงอาการอย่างไร? ตอบว่า ผู้ไม่มีศรัทธาก่อน ในวันมีมหรสพ เธอจะถือเอาไม้กวาดปัดกวาดวิหารและทำการเทหยากเยื่อในเวลาที่พวกมนุษย์มาสู่วิหาร ครั้นทราบว่า การกระทำของเธอ มนุษย์ทั้งหลายรู้แล้ว จึงไปสู่ลานพระเจดีย์ ย่อมเทหยากเยื่อ ย่อมเกลี่ยทรายทำพื้นให้เสมอกัน ย่อมล้างอาสนะทั้งหลาย ย่อมรดน้ำที่ต้นโพธิ์. มนุษย์ทั้งหลายเห็นเธอแล้วก็สำคัญว่า ภิกษุอื่นที่ปฏิบัติวิหารเห็นจะไม่มี ภิกษุนี้เท่านั้นเป็นพระเถระผู้มีศรัทธาปฏิบัติวิหารนี้อยู่ ดังนี้ จึงนิมนต์ภิกษุนั้น เพื่อฉันอาหาร. แม้ผู้ทุศีล ก็เข้าไปหาพระวินัยธร ย่อมถามในที่พร้อมหน้าแห่งอุปัฏฐากทั้งหลายว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ครั้นเมื่อกระผมเดินไป โคตกใจแล้วเมื่อกระผมปัดกวาดโคก็วิ่งเตลิดไป ทำให้หญ้าทั้งหลายขาดแล้ว เมื่อกระผมจงกรมอยู่หญ้าทั้งหลายย่อมอับเฉา เมื่อกระผมบ้วนน้ำลายให้ตกไปตัวแมลงเล็กๆ ย่อมตาย การให้น้ำลายตกไปที่หญ้าโดยไม่มีสติ โทษอะไรย่อมมีในที่นั้น ขอรับ ดังนี้. เมื่อพระวินัยธรกล่าวว่า ดูก่อนผู้มีอายุ เมื่อเราไม่รู้ ไม่แกล้ง ไม่เจตนาฆ่าสัตว์ อาบัติย่อมไม่มี ดังนี้ แล้วกล่าวยกย่องพระวินัยธรว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สิ่งนี้ย่อมปรากฏแก่กระผม ราวกะว่าเป็นของหนัก ท่านย่อมพิจารณาชอบแล้ว ดังนี้. มนุษย์ทั้งหลายฟังถ้อยคำนั้นแล้วเลื่อมใสว่า พระผู้เป็นเจ้าของพวกเรา ย่อมรังเกียจแม้ในเหตุมีประมาณเท่านี้ ท่านจักกระทำกรรมหยาบอื่นได้อย่างไร ภิกษุผู้มีศีลเช่นกับภิกษุนี้ ย่อมไม่มี ดังนี้แล้วทำสักการะ. แม้ผู้ศึกษาน้อย ก็จะนั่งในท่ามกลางแห่งอุปัฏฐาก ย่อมกล่าวว่าภิกษุโน้นทรงพระไตรปิฎก ภิกษุโน้นทรงนิกาย ๔ เป็นอันเตวาสิกของเราภิกษุเหล่านั้น เรียนธรรมในสำนักของเรา ดังนี้ พวกมนุษย์เลื่อมใสว่า ภิกษุผู้เป็นพหูสูตเช่นกับด้วยพระผู้เป็นเจ้าของเราไม่มี ได้ยินว่า ภิกษุรูปโน้นๆ เรียนธรรมในสำนักของพระผู้เป็นเจ้าของเรา ดังนี้ จึงทำสักการะ. แม้ผู้ยินดีด้วยหมู่คณะ ในวันที่มีมหรสพ ยังบุคคลให้ถือเอาตั่งคือที่นั่งยาวและหมอนข้าง ย่อมนั่งพักอยู่ในที่พักเวลากลางวันที่โคนไม้สุดเขตแดนแห่งวิหาร. มนุษย์ทั้งหลายมาแล้ว ย่อมถามว่า พระเถระไปไหน ดังนี้ชื่อว่าบุตรของคัณฐิกะ ผู้กล่าวคำอันคลุมเคลือนั่นแหละมีอยู่ ย่อมกล่าวด้วยเหตุนั้นนั่นแหละว่า พระเถระย่อมไม่นั่งในกาลเห็นปานนี้ ย่อมอยู่ในที่จงกรมอันมีระยะทางยาว อยู่ ณ ที่สุดแห่งวิหาร ดังนี้. แม้ภิกษุนั้น ก็ยังกาลให้ล่วงไปครึ่งวัน แล้วยังใยแห่งแมลงมุมที่ติดไว้ที่หน้าผา แล้วก็ให้บุคคลถือเอาตั่งมานั่งที่ประตูแห่งบริเวณ. มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านไปที่ไหน พวกกระผมมาไม่เห็นท่าน ดังนี้. ภิกษุนั้น ย่อมยังมนุษย์ให้รู้ซึ่งความที่ตนเป็นผู้ชอบความสงบด้วยคำว่า ดูก่อนอุบาสกทั้งหลายภายในวิหารนี้เกลื่อนกล่น ที่นี้เป็นที่เที่ยวเดินและยืนของภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลาย อาตมานั่งในที่พักในเวลากลางวันซึ่งมีที่จงกรม ๖๐ ศอก ดังนี้.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 7 พ.ค. 2552

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 880

แม้ภิกษุผู้เกียจคร้าน ก็นั่งในท่ามกลางแห่งอุปัฏฐาก ย่อมกล่าวว่า ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย พวกท่านเห็นอุกาบาต (การตกลงของคบเพลิง) แล้วหรือ ดังนี้ ถูกพวกมนุษย์ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พวกกระผมย่อมไม่เห็นอุกกาบาตได้มีในเวลาไหนขอรับ ดังนี้ จึงกล่าวว่า ในเวลาเป็นที่จงกรมของพวกเรา แล้วจึงถามว่า พวกท่านได้ยินเสียงสั่นสะเทือนของแผ่นดิน หรือดังนี้ เมื่อเขากล่าวว่า พวกกระผมย่อมไม่ได้ยิน. ก็เสียงสั่นสะเทือนของแผ่นดินย่อมมีในเวลาไหนขอรับ ดังนี้ ก็กล่าวว่า ในเวลามัชฌิมยาม คือในเวลาที่พวกเรายืนพิงแผ่น กระดานกำหนดอารมณ์ โอภาสใหญ่ได้มีแล้ว แล้วถามว่า โอภาสใหญ่นั้น พวกเธอเห็นแล้วหรือ ดังนี้ เมื่อมนุษย์ถามว่า โอภาสใหญ่ได้มีเวลาไหนขอรับ ดังนี้ จึงกล่าวว่า ในเวลาเป็นที่หยังลงแต่การจงกรมของอาตมา ดังนี้. มนุษย์ทั้งหลายเลื่อมใสว่า พระเถระของเราทั้งหลายย่อมจงกรมตลอดยามทั้งสามเทียว ภิกษุผู้ปรารภความเพียรเช่นกับด้วยพระผู้-เป็นเจ้าของย่อมไม่มี ดังนี้ จึงทำสักการะ. แม้ผู้หลงลืมสติ ก็นั่งในท่ามกลางแห่งอุปัฏฐาก ย่อมกล่าวว่า เราเรียนพระสูตรทีฆนิกายในกาลชื่อโน้น เรียนมัชฌิมนิกายในกาลโน้น สังยุตต-นิกาย อังคุตตรนิกายในกาลโน้น ชื่อว่าการแลดูอย่างอื่นในระหว่างย่อมไม่มีแบบแผนเป็นราวกะเกิดขึ้นในปากของเรา และย่อมมาในที่แห่งเราปรารถนาแล้วๆ ส่วนภิกษุอื่น ยังปากให้ส่ายไป (เพื่อถามปัญหา) เป็นราวกะแพะดังนี้. มนุษย์ทั้งหลายเลื่อมใสแล้ว ด้วยคิดว่า บุคคลอื่นจักปฏิบัติเช่นกับพระคุณเจ้าของเราย่อมไม่มี ดังนี้ แล้วทำสักการะ. แม้ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ก็ย่อมถามปัญหาในพระอรรถกถาจารย์ ในที่พร้อมหน้าแห่งอุปัฏฐากทั้งหลาย คือ ย่อมถามว่า ชื่อว่า กสิณ ย่อมเจริญอย่างไร ชื่อว่านิมิตที่เกิดขึ้นมีประมาณเท่าไร อุปจาระย่อมมีประมาณเท่าไร อัปปนาย่อมมีประมาณเท่าไร องค์ของปฐมฌานมีประมาณเท่าไร องค์ของทุติย-ฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน มีประมาณเท่าไร ดังนี้ เมื่อพระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า ดูก่อนอาวุโส ประโยชน์อะไรด้วยคำเหล่านี้ คำอะไรๆ อย่างนี้ไม่มีหรือ และกระทำการยิ้มในเวลาที่กล่าวถ้อยคำอันเหมาะแก่การศึกษา ดังนี้จึงแสดงการได้สมาบัติของตนด้วยคำว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อนี้ย่อมถูกต้องดังนี้. มนุษย์ทั้งหลายพากันเลื่อมใสว่า พระผู้เป็นเจ้าของพวกเราได้สมาบัติแล้ว ย่อมทำสักการะ. แม้ผู้มีปัญญาทราม ก็จะนั่งในท่ามกลางแห่งอุปัฏฐากทั้งหลาย กล่าวอยู่ว่า เราย่อมสละปริยัติ ดังนี้เป็นต้น ด้วยคำว่า เมื่อเราตรวจดูหมวดสามแห่งธรรมอันยังสัตว์ให้เนิ่นช้าในมัชฌิมนิกายอยู่ มรรคนั่นแหละมาแล้วพร้อมด้วยฤทธิ์ ชื่อว่าปริยัติ ไม่เป็นสิ่งที่กระทำได้โดยยากสำหรับพวกเรา การสนใจในปริยัติ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ ดังนี้ ย่อมแสดงซึ่งความที่ตนเป็นคนมีปัญญามาก. ก็เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอยู่อย่างนี้ ชื่อว่า ย่อมทำลายพระศาสนา.ชื่อว่า มหาโจรเช่นกับบุคคลนี้ ย่อมไม่มี เพราะว่า บุคคลผู้ทรงพระปริยัติ ชื่อว่า ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ หามีไม่. แม้ผู้ยังไม่สิ้นอาสวะ เห็นทารกในบ้านแล้ว ถามว่า มารดาบิดาของพวกเธอย่อมกล่าวว่า เราเป็นอะไร. พวกทารกกล่าวว่า มารดาบิดาของกระผมกล่าวว่า ท่านเป็นพระอรหันต์ ขอรับ. ภิกษุนั้น ย่อมแสดงซึ่งความที่ตนเป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้วด้วยคำว่า ดุก่อนบุตรคหบดีผู้ฉลาด ใครๆ ไม่อาจเพื่อจะลวงท่านได้ ดังนี้ ก็ในที่นี้บัณฑิตพึงทราบซึ่งภิกษุแม้อื่นอีกที่แสดงตนเป็นพระอรหันต์ มีพระอรหันต์ตุ่มน้ำและพระอรหันต์ย่านไทร เป็นต้น. ฯลฯ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ