ความหมายของ ธรรมทาน ตามพระไตรปิฏก
๑. ธรรมทาน หมายความว่าอย่างไรครับ
๒. ผมได้สนทนาธรรมกับรุ่นพี่คนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการให้หนังสือธรรมะว่าเป็นธรรมทานหรือไม่ สำหรับส่วนตัวผมเองแล้ว การให้หนังสือธรรมะเฉยๆ นั้นเป็นเพียงอามิสทานเท่านั้น ไม่ใช่เป็นธรรมทาน ส่วนการให้หนังสือธรรมะจะเป็นธรรมทานได้ก็ต่อเมื่อมีความพยายามอย่างอื่นประกอบด้วย เพื่อให้ผู้รับมีความเห็นถูก ไม่ใช่แต่เพียงมอบให้แล้วไม่ทำอะไรต่อเลย
ธรรมทาน หมายถึง การให้ธรรมะ คือ การให้ความรู้ความเข้าใจ ความเห็นถูกในธรรมะโดยทั่วไป มีการจำแนกการให้ ๒ อย่าง คือ ให้อามิส ๑ ให้ธรรมะ ๑
การให้วัตถุสิ่งของ เงินทอง เครื่องอำนวยความสะดวกทั้งหมด เป็นการให้อามิส
ส่วนการสอนผู้อื่นให้รู้ความจริง เป็นการให้ธรรมะ
สำหรับการให้หนังสือธรรมะแก่ผู้อื่น ต้องดูที่เจตนา ถ้ามีเจตนาให้เขาได้อ่าน และเข้าใจมีความเห็นถูกอย่างนี้เป็นธรรมทาน ถ้าให้ ส่งไปเหมือนกับการให้ของสิ่งอื่นอย่างอื่นอย่างนี้ควรจะเป็นการให้อามิส
[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 616
เชิญคลิกอ่านที่ ...
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 325
๑๐. สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ สพฺพํ รสํ ธมฺมรโส ชินาติ สพฺพํ รตึ ธมฺมรตี ชินาติ ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชนาติ
"ธรรมทาน ย่อมชนะทานทั้งปวง รสแห่งธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง ความยินดีในธรรม ย่อมชนะความยินดีทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง"
อ่านจากความเห็นที่ 1 - 3 แล้ว ทำให้ผมเข้าใจในลักษณะที่ว่า การให้ธรรมเป็นทาน คือ การมีเจตนาที่จะทำให้บุคคลอื่น มีความเข้าใจความเป็นจริง ถูกต้องตรงตามสภาพของความเป็นจริงนั้น ในระดับขั้นต่างๆ และก็ได้มีการกระทำไม่ว่าจะทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ก็ดีที่เป็นทางแสดงออกของเจตนาดังกล่าว ซึ่งเมื่อทั้งเจตนาและการกระทำในลักษณะเช่นว่าสมบูรณ์ครบก็เป็นอันว่า ธรรมทาน เกิดได้แล้ว
ในส่วนของการให้หนังสือโดยตั้งใจว่าให้เป็นทานนั้น ตามปกติแล้ว หากไม่ประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งเจตนาและทวารในการแสดงออกอย่างที่กล่าวถึงมา ผมคิดว่าก็ไม่น่าที่จะเป็นธรรมทาน อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป เท่าที่ประสบมา คนจะเลือกให้หนังสือสำหรับการทำบุญนั้น เป็นสิ่งที่เกิดได้ไม่บ่อยนัก เพราะตามปกติมักจะทำทานเป็นของอุปโภคบริโภคอย่างอื่นๆ มากกว่า
ส่วนคนที่จะทำทานด้วยการให้หนังสือนั้น มักที่จะเป็นไปด้วยเจตนาเฉพาะเจาะจง ประสงค์จะให้ความรู้จริงๆ เพราะแม้จะเป็นในกรณีของการให้หนังสือเรียนซึ่งเป็นเรื่องทางโลก ก็เป็นการให้ที่มุ่งหวังให้ผู้รับได้มีโอกาสเข้าใจในสภาพความเป็นจริงในทางโลกตรงตามสภาพ
ดังนั้น ยิ่งในกรณีของการให้หนังสือธรรมะเป็นทาน โดยปกติทั่วไปแล้ว ก็น่าที่จะประกอบไปด้วยเจตนาที่จะทำให้ผู้รับได้เข้าใจถึงความเป็นจริงที่สูงขึ้นไป ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญของธรรมทาน ทั้งนี้ เชื่อว่า หากยิ่งตัวบุคคลผู้ให้หนังสือธรรมะมีความเข้าใจในเนื้อหาธรรมะและมีศรัทธาในธรรมะ เพราะเห็นประโยชน์ เห็นอานิสงส์ และคุณทั้งหลายจากการเข้าใจและการประพฤติปฏิบัติตามธรรมได้ หรือเข้าใจถึงความสำคัญของการเห็นความเป็นจริงถูกต้องตรงตามสภาพ รู้ว่าสิ่งใดเป็นเหตุ สิ่งใดเป็นผลแล้ว การให้หนังสือธรรมะเป็นทานดังกล่าว ก็ไม่น่าที่จะหนีพ้นไปจากการเป็นธรรมทานได้ เพราะโดยปกติแล้วผู้ประสงค์จะให้ทาน มักปรารถนาดีกับผู้รับและต้องการให้ผู้รับได้รับในสิ่งที่ดี จึงได้ให้ทานต่างๆ ไป
ดังนั้น หากผู้ใดเห็นว่าธรรมะเป็นสิ่งดี เมื่อยามที่จะอนุเคราะห์ด้วยการมอบสิ่งที่ดีให้กับผู้อื่น ก็หนีไม่พ้นที่จะเกิดความคิด หรืออาจยิ่งประกอบด้วยฉันทะ ในการที่จะให้ธรรมะซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของหนังสือหรือสื่ออื่นใดเป็นทานนั่นเอง