ควรทราบคัมภีร์ทั้ง ๔ ประการ [อธิบายคัมภีรภาพ ๔ อย่าง]
[เล่มที่ 1] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๔๙
อธิบายคัมภีรภาพ ๔ อย่าง
บรรดาคัมภีรภาพทั้ง ๔ นั้น พระบาลี ชื่อว่าธรรม.
เนื้อความแห่งพระบาลีนั้นนั่นแล ชื่อว่าอรรถ.
การแสดงพระบาลีนั้นที่กำหนดไว้ด้วยใจนั้นชื่อว่าเทศนา.
การหยั่งรู้พระบาลีและอรรณแห่งพระบาลีตามเป็นจริง ชื่อว่าปฏิเวธ.
ก็เพราะในปิฎกทั้ง ๓ นี้ ธรรม อรรถ เทศนาและปฏิเวธเหล่านี้ อันบุคคลผู้มีปัญญาทรามทั้งหลายหยั่งลงได้ยากและมีที่ตั้งอาศัยที่พวกเขาไม่พึงได้ ดุจมหาสมุทรอันสัตว์ทั้งหลาย มีกระต่ายเป็นต้นหยั่งลงได้ยากฉะนั้น, เพราะฉะนั้น จึงจัดว่าเป็นคุณลึกซึ้ง.
ก็แลบัณฑิตพึงทราบคัมภีรภาพทั้ง ๔ในปิฏกทั้ง ๓ นี้ แต่ละปิฎก ด้วยประการฉะนี้.
อธิบายคัมภีรภาพอีกนัยหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่ง เหตุ ชื่อว่าธรรม สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
ความรู้ในเหตุ ชื่อว่าธรรมปฏิสัมภิทา ๑.
ผลแห่งเหตุ ชื่อว่าอรรถ สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไว้ว่า ความรู้ในผลแห่งเหตุ ชื่อว่า อัตถปฏิสัมภิทา ๒
บัญญัติ อธิบายว่า การเทศนาธรรมตามธรรม ชื่อว่าเทศนา การตรัสรู้ ชื่อว่าปฏิเวธ ก็ปฏิเวธนั้นเป็นทั้งโลกิยะและโลกุตระ คือความรู้รวมลงในธรรมตามสมควรแก่อรรถ ในอรรถตามสมควรแก่ธรรม ในบัญญัติตามสมควรแก่ทางแห่งบัญญัติ โดยวิสัยและโดยความไม่งมงาย
บัดนี้ ควรทราบคัมภีร์ทั้ง ๔ ประการ ในปิฎกทั้ง ๓ นี้ แต่ละปิฎก เพราะเหตุที่ธรรมชาตหรืออรรถชาตใดๆ ก็ดี อรรถที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงให้ทราบย่อมเป็นอรรถมีหน้าเฉพาะต่อญาณของนักศึกษาทั้งหลายด้วยประการใดๆ เทศนาอันส่องอรรถนั้นให้กระจ่างด้วยประการนั้นๆ นี้ใดก็ดี ปฏิเวธคือความหยั่งรู้ไม่วิปริตในธรรม อรรถและเทศนานี้ใดก็ดี ในปิฎกเหล่านี้ ธรรม อรรถ เทศนาและปฏิเวธทั้งหมดนี้ อันบุคคลผู้มีปัญญาทรามทั้งหลาย มิใช่ผู้มีกุศลสมภารได้ก่อสร้างไว้ พึงหยั่งถึงได้ยากและที่พึ่งอาศัยไม่ได้ ดุจมหาสมุทรอันสัตว์ทั้งหลายมีกระต่ายเป็นต้นหยั่งถึงได้ยาก ฉะนั้น.