ทดสอบปัญญาของท่านว่า ... รู้จริง ... หรือเปล่า
การที่จะทดสอบปัญญาของท่านว่า ... รู้จริง ... หรือเปล่า คือ ไม่ว่าเป็นนามธรรมใด รูปธรรมใด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อรู้จริงก็ต้องรู้ลักษณะของนามธรรมต่างกับรูปธรรม ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่นลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก จึงจะเป็นการรู้จริงในอรรถะ และลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายโดยความเป็นอนัตตา
ท่านพระอานนท์กล่าวกับท่านพระอุทายีว่า ... “ดูกร ท่านพระอุทายีจักขุวิญญาณย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุและรูปหรือ”
อุทายี อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ
อานนท์ เหตุและปัจจัยที่จักขุวิญญาณอาศัยเกิดขึ้นพึงดับไปหมดสิ้น หาส่วนเหลือมิได้ จักขุวิญญาณจะปรากฏบ้างหรือหนอ
อุทายี ไม่ปรากฏเลยท่านผู้มีอายุ
ในขณะทีได้ยิน ไม่มีเห็น นี่คือการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ในขณะที่นึกคิดเรื่องราวต่างๆ ไม่มีเห็น ไม่มีได้ยิน เพราะขณะนั้นกำลังรู้เรื่อง สภาพรู้กำลังคิดเรื่องที่กำลังรู้อยู่ในขณะนั้น ก็คือการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ท่านพระอานนท์จึงกล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ... เมื่อจักขุวิญญาณ คือ การเห็นเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุคือตาและสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อจักขุและรูปซึ่งไม่เที่ยงดับไปแล้ว การเห็นจะมีได้อย่างไร ... การเห็นก็ต้องดับไป
ในขณะที่ผู้ประจักษ์ลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้จริงๆ เป็นนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว กว่าจะอบรมเจริญปัญญาจนถึงนิพพิทาญาณได้ ปัญญาจะต้องเจริญขึ้นจนรู้ปัจจัยของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น บรรลุถึงปัจจยปริคคหญาณแล้วปัญญาจึงจะอบรมเจริญต่อไป จนกว่าจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่สืบต่อกัน เป็นสัมมสนญาณแล้ว
ปัญญาก็จะต้องอบรมเจริญต่อไปจนกว่าจะประจักษ์การเกิดดับ แยกขาดกันของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ เป็นอุทยัพพยญาณ แล้วปัญญาจึงจะอบรมเจริญขึ้นจนกว่าจะประจักษ์ความไม่เที่ยงของสภาพธรรมซึ่งดับไปๆ เป็นภังคญาณ แล้วปัญญาจึงจะอบรมเจริญขึ้นจนกว่าจะประจักษ์โทษภัยของการดับไปของสภาพธรรมเป็นภยญาณ และอาทีนวญาณ แล้วปัญญาก็จะต้องอบรมเจริญขึ้นจนกว่าจะถึงนิพพิทาญาณ
ปัญญาจะต้องรู้แจ้งชัดจริงๆ โดยประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ว่าไม่รู้ลักษณะของนามธรรมแล้วจะเข้าประตูนิพพาน โดยเพียงรู้ท่านั่ง ท่านอนท่ายืน ท่าเดิน ซึ่งเป็นการจำรูปที่เกิดรวมกันเป็นสัณฐานอาการต่างๆ ไม่ใช่การรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะ ที่เกิดขึ้นปรากฏทางทวารต่างๆ แล้วก็ดับไปตามปรกติตามความเป็นจริง
ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป
อ่านบทความนี้เสร็จแล้วช่วงท้ายๆ ไม่ค่อยเข้าใจ เพราะเป็นบาลี แต่ก็พอใจเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมที่ละเอียดและเร็วมากๆ ตามที่ท่านอาจารย์ เคยกล่าวไว้ว่า 17ขณะ ที่เกิดขึ้น ดับไปเร็วมากแต่จิตของเราก็ยังไม่ประจักษ์ ขั้นนั้น
...ถ้าอย่างนั้น จริงมั้ยคะว่า เราควรจะใช้ทวารทั้ง ๖ ให้น้อยลงกว่าที่เป็น เช่น เห็นน้อย ฟังน้อย พูดน้อยฯ (ยกเว้นธรรมของท่านอ. ที่ฟังมากขึ้น) เท่าที่จะทำได้ เกือบจะใช้คำว่าฝืนก็ได้ เช่น ดูหนัง ถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่ดู เพราะไม่เกิดประโยชน์ อย่างเช่นเคยดูทั้งวันก็เหลือ 50% หรือ 30% ในแต่ละวัน .. คือดูแล้วก็ฟุ้งซ่าน เอาเวลาไปฟังธรรมท่านอ.สุจินต์ ดีกว่า เป็นต้น ถึงตรงนี้สภาพธรรมที่เราบังคับบัญชาไม่ได้นั้นแต่ปัญญาเราก็ทำให้ฟังธรรมดีกว่า เพราะฟังวันนี้ก็เข้าใจมากกว่าเมื่อวาน เพราะอาจารย์เคยกล่าวไว้ว่า ดูหนัง ฟังเพลงมาตั้งนานนับหลายสิบปี ก็ไม่เห็นจะฉลาดมากขึ้นเท่าไร ดูต่อไปก็เหมือนเดิม หมดเวลาไปเปล่าๆ แต่เราก็ยังดูอยู่นะคะ แต่น้อยลงมาก อาจดูข่าว ดูเรื่องที่ชอบบ้าง ก็มีจิตรู้สภาพธรรมไปด้วยว่าชอบ ไม่ชอบ หลง ลืม เผลอ ก็มีอยู่ มาก แต่เดี๋ยวนี้ได้ฟังธรรมของท่านอ.สุจินต์ แบบออนไลน์ ก็เข้าใจเพิ่มขึ้นนิดๆ ค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ