เทวดากีดกันความพยายามของคนไม่ได้ [จุลลกาลิงคชาดก]

 
opanayigo
วันที่  15 พ.ค. 2552
หมายเลข  12373
อ่าน  1,985

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔- หน้าที่ 373

จุลลกาลิงคชาดก

เทวดากีดกันความพยายามของคนไม่ได้

ชัยชนะเป็นของท่าน. พระเถระจึงถามว่า บัดนี้ พวกท่านจักทำอย่างไร?

นางปริพาชิกาทั้งสี่จึงตอบว่า มารดาบิดาของพวกข้าพเจ้าได้ให้โอวาท

นี้ไว้ว่า ถ้าคฤหัสถ์ทำลายวาทะของพวกเจ้าได้จงยอมเป็นปชาบดีของ

เขา ถ้าบรรพชิตทำลายได้ก็จงพากันบวชในสำนักของบรรพชิตนั้น

เพราะฉะนั้น ท่านโปรดให้บรรพชาแก่พวกข้าพเจ้าเถิด. พระเถระ

กล่าวว่าดีแล้ว จึงให้นางบวชในสำนักของพระอุบลวรรณาเถรี ไม่

นานนัก ทั้งหมดก็ได้บรรลุพระอรหัต. อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่ง

ประชุมสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย พระสารีบุตร

เถระเป็นที่พึ่งอาศัยของปริพาชิกาทั้งสี่ ให้ทุกนางบรรลุพระอรหัต.

พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่ง

สนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว

จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน

สารีบุตรก็ได้เป็นที่พึ่งอาศัยของปริพาชิกาเหล่านี้ แต่ในบัดนี้ ได้ให้

บรรพชาภิเษก ในปางก่อน ได้ตั้งไว้ในตำแหน่งมเหสีของพระราชา

แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้ากาลิงคราชครองราชสมบัติอยู่ในพระ-

นครทันตปุระ แคว้นกาลิงครัฐ. พระราชาพระนามว่า อัสสกะ

ครองราชสมบัติในนครโปตละ แคว้นอัสสกรัฐ. พระเจ้ากาลิงคะทรง

สมบูรณ์ด้วยรี้พลและพาหนะ แม้พระองค์เองก็มีกำลังดังช้างสารไม่

เห็นผู้จะต่อยุทธ พระองค์เป็นผู้ประสงค์จะทรงกระทำการรบ จึงตรัส

บอกแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า เรามีความต้องการจะทำการรบ แต่ไม่

เห็นผู้จะต่อยุทธ เราจะกระทำอย่างไร. อำมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลว่า

ข้าแต่มหาราช มีอุบายอยู่อย่างหนึ่ง พระราชธิดาทั้ง ๔ ของพระองค์

ทรงพระรูปโฉมอันอุดม พระองค์โปรดให้ประดับตกแต่งพระราชธิดา

เหล่านั้น แล้วให้นั่งในราชยานอันมิดชิด แวดล้อมด้วยรี้พล แล้ว

ให้เที่ยวไปยังคามนิคม และราชธานีทั้งหลาย โดยป่าวร้องว่า พระ-

ราชาพระองค์ใดจักมีพระประสงค์จะรับเอาไว้เพื่อตน พวกเราจักทำ

การรบกับพระราชาพระองค์นั้น. พระราชาจึงทรงให้กระทำอย่างนั้น.

ในสถานที่พระราชธิดาเหล่านั้นเสด็จไปแล้วๆ พระราชาทั้งหลายไม่

ยอมให้พระราชธิดาเหล่านั้นเข้าพระนคร เพราะความกลัวภัยพากัน

ส่งเครื่องบรรณาการออกไป แล้วให้ประดับอยู่เฉพาะภายนอกพระ-

นคร. พระราชธิดาเหล่านั้นเสด็จเที่ยวไปตลอดทั่วชมพูทวีปด้วย

อาการอย่างนี้ จนบรรลุถึงพระนครโปตละ แคว้นอัสสกรัฐ. ฝ่าย

พระเจ้าอัสสกะก็ทรงให้ปิดประตูพระนครแล้ว ทรงส่งเครื่องบรรณา-

การออกไปถวาย. อำมาตย์ของพระเจ้าอัสสกะนั้น ชื่อว่านันทเสนเป็น

บัณฑิตเฉลียวฉลาดในอุบาย. นันทเสนอำมาตย์นั้นคิดว่า ข่าวว่า พระ-

ราชธิดาของพระเจ้ากาลิงคราชเหล่านี้ เสด็จเที่ยวไปทั่วชมพูทวีปก็ไม่

ได้ผู้จะต่อยุทธ แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ ชมพูทวีปก็ได้ชื่อว่าต่างจากนักรบ

เราจักรบกับพระเจ้ากาลิงคราช. นันทเสนอำมาตย์นั้นจึงไปยังประตู

พระนครเรียกคนรักษาประตูมา เพื่อจะให้เขาเปิดประตูแก่พระราช-

ธิดาเหล่านั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า:-

ท่านทั้งหลายจงเปิดประตูถวาย เพื่อ

ให้พระราชธิดาเหล่านั้น เสด็จเข้าภายในพระ-

นคร ซึ่งพระนครนี้ข้าพเจ้าชื่อว่านันทเสน

ผู้เป็นอำมาตย์ ดุจราชสีห์ของพระเจ้าอรุณราช

ผู้อันอาจารย์สั่งสอนไว้อย่างดี ได้จัดการรักษา

ไว้ดีแล้ว.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อรุณราชสฺส ความว่า พระราชา

แม้พระองค์นั้น ในเวลาดำรงอยู่ในราชสมบัติ ทรงพระะนามว่า อัสสกะ

ด้วยสามารถแห่งชื่อของแคว้นแต่พระนามว่า อรุณ เป็นนามที่ราช

ตระกูลประทานแก่พระราชานั้น. ด้วยเหตุนั้น นันทเสนอำมาตย์จึง

กล่าวว่า อรุณราชสฺส ดังนี้. บทว่า สีเหน แปลว่า ผู้เป็นบุรุษ

ดุจราชสีห์. บทว่า สุสิฏเน แปลว่า ผู้อันอาจารย์ทั้งหลายสั่งสอน

ดีแล้ว. บทว่า นนฺทเสเนน ความว่า อันเรา ผู้ชื่อว่านันทเสน.

ครั้นอำมาตย์นันทเสนนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงให้เปิดประตู

รับพระราชธิดาทั้ง ๔ นั้นไปถวายพระเจ้าอัสสกะ แล้วกราบทูลว่า

พระองค์อย่าทรงเกรงกลัวเลย เมื่อมีการรบกัน ข้าพระองค์จักรู้

(รับอาสา) พระองค์โปรดทรงกระทำพระราชธิดาผู้ทรงพระรูปโฉมอัน

เลอเลิศเหล่านี้ให้เป็นพระอัครมเหสีเถิด แล้วให้ประทานอภิเษกแก่

พระราชธิดาเหล่านั้น แล้วส่งราชบุรุษผู้มากับพระราชธิดาเหล่านั้น

กลับไปด้วยพูดว่า ท่านทั้งหลายจงกราบทูลพระราชาของท่าน

หมายถึงข้อที่พระเจ้าอัสสกะราชทรงตั้งพระราชธิดาทั้ง ๔ ไว้ในตำ-

แหน่งอัครมเหสี. ราชบุรุษเหล่านั้นไปกราบทูลให้ทรงทราบ พระเจ้า

กาลิงคราช ทรงดำริว่า พระเจ้าอัสสกะนั้นชะรอยจะไม่ทราบกำลังของ

เราแน่นอน จึงเสด็จออกด้วยกองทัพใหญ่ในขณะนั้นทันที. นันทเสน

อำมาตย์ทราบการเสด็จของพระเจ้ากาลิงคราช จึงส่งสาส์นไปว่า ขอ

พระเจ้ากาลิงคราชจงอยู่เฉพาะแต่ในรัฐสีมาของพระองค์ อย่าล่วงล่า

รัฐสีมาแห่งพระราชาของข้าพระองค์เข้ามา การสู้รบจักมีระหว่าง

แคว้นทั้งสอง. พระเจ้ากาลิงคราชทรงสดับสาส์นแล้วได้ทรงหยุด

กองทัพ ไว้เฉพาะปลายพระราชอาณาเขตของพระองค์ ฝ่ายพระ-

เจ้าอัสสกราชก็ได้ทรงหยุดกองทัพ เฉพาะปลายราชอาณาเขตของ

พระองค์เหมือนกัน.

ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์บวชเป็นฤาษี อยู่ที่บรรณศาลาระหว่าง

อาณาเขต แห่งพระราชาทั้งสองนั้น. พระเจ้ากาลิงคราชทรงพระ-

ดำริว่า ธรรมดาสมณะทั้งหลายย่อมจะรู้อะไรๆ ดี ใครจะรู้ อะไรจักมี

ชัยชนะหรือความปราชัยจักมีแก่ใคร เราจักถามพระดาบสดู จึงเข้า

ไปหาพระโพธิสัตว์ด้วยเพศที่ใครๆ ไม่รู้จัก ไหว้แล้วนั่ง ณ ส่วน

ข้างหนึ่ง กระทำปฏิสันถารแล้วถามว่า ท่านผู้เจริญ พระเจ้ากาลิงคะ

กับพระเจ้าอัสสกะประสงค์จะรบกัน พากันตั้งทัพยันอยู่เฉพาะใน

รัฐสีมาของตนๆ ในพระราชาทั้งของพระองค์นั้น ใครจักมีชัยชนะ

ใครจักปราชัยพ่ายแพ้. พระดาบสโพธิสัตว์กราบทูลว่า ท่านผู้มีบุญมาก

อาตมภาพไม่ทราบว่า พระองค์โน้นชนะ พระองค์โน้นพ่ายแพ้ แต่

ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาที่นี้ อาตมภาพถามท้าวสักกเทวราชนั้นแล้ว

จักบอกให้ทราบ. พรุ่งนี้ท่านมาฟังเอาเถิด. ท้าวสักกะเสด็จมาสู่ที่บำรุง

พระโพธิสัตว์แล้วประทับนั่ง. ทีนั้น พระโพธิสัตว์จึงทูลถามเนื้อความ

กะท้าวสักกเทวราช ท้าวเธอจึงตรัสทำนายว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ

พระเจ้ากาลิงคราชจักมีชัย พระเจ้าอัสสกะจักปราชัย อนึ่ง บุรพนิมิต

นี้จักปรากฏ. ในวันรุ่งขึ้น พระเจ้ากาลิงคราชเสด็จมาถาม แม้พระ-

โพธิสัตว์ก็ทูลแก่พระเจ้ากาลิงคราชนั้น. พระเจ้าถาลิงคราชไม่ตรัส

ถามเลยว่า บุรพนิมิตชื่อไรจักปรากฏ ทรงหลีกลาไปด้วยพระทัยยินดี

ว่า ท่านว่าเราจักชนะ. เรื่องนั้นได้แพร่ไปแล้ว พระเจ้าอัสสกะได้ทรง

สดับเรื่องนั้นจึงรับสั่งให้เรียกอำมาตย์นันทเสนมา แล้วรับสั่งว่า เขา

ว่าพระเจ้ากาลิคราชจักชนะ เราจักพ่ายแพ้ เราควรจะทำอย่างไรกัน

นันทเสนอำมาตย์นั้นกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ใครจะทราบข้อนั้น

ได้ชัยชนะหรือความปราชัยจักเป็นของใคร ขอพระองค์อย่าทรงคิด

ไปเลย ครั้นกราบทูลเอาพระทัยพระราชาแล้ว เข้าไปหาพระโพธิสัตว์

ไหว้แล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง. ถามว่า ท่านผู้เจริญ ใครจักชนะ. ใครจัก

แพ้ พระโพธิสัตว์กล่าวว่า พระเจ้ากาลิงคะจักชนะ พระเจ้าอัสสกะ

จักแพ้ อำมาตย์นันทเสนถามว่า ท่านผู้เจริญ บุรพนิมิตอะไรจักมี

แก่ผู้ชนะ บุรพนิมิตอะไรจักมีแก่ผู้แพ้. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ท่าน

ผู้มีบุญมาก อารักขเทวดาขอพรผู้ชนะจักเป็นโคผู้ขาวปลอด อารักข-

เทวดาของผู้แพ้จักเป็นโคผู้ดำปลอด อารักขเทวดาแม้ของทั้งสองฝ่าย

รบกันแล้ว จักทำความมีชัยและปราชัยกัน. นันทเสนอำมาตย์ได้ฟัง

ดังนั้น จึงลุกขึ้นลาไป พาทหารใหญ่ประมาณพันคนผู้เป็นสหายของ

พระราชา ขึ้นไปยังภูเขาในที่ไม่ไกลนัก แล้วถามว่า ผู้เจริญทั้ง

หลาย พวกท่านจักอาจเพื่อถวายชีวิตแก่พระราชาของพวกเราได้หรือ

ไม่. ทหารใหญ่เหล่านั้นกล่าวว่า พวกเราจักสามารถถวายได้. นันท-

เสนอำมาตย์กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นพวกท่านจงโดดลงไปในเหวนี้. ทหาร

ใหญ่เหล่านั้นได้เตรียมจะโดดลงเหว. นันทเสนอำมาตย์จึงห้ามทหาร

ใหญ่เหล่านั้นแล้วกล่าวว่า อย่าโดดลงเหวนี้เลย ท่านทั้งหลายเป็นผู้มี

ขวัญดี ไม่ถอยหลัง ช่วยกันรบเพื่อถวายชีวิตแก่พระราชาของเรา

ทั้งหลายเถิด ทหารใหญ่เหล่านั้นรับคำแล้ว. ครั้นเมื่อสงครามประชิด

กัน พระเจ้ากาลิงคราชทรงวางพระทัยว่า นัยว่าเราจักชนะ แม้หมู่

พลนิกายของพระองค์ก็พากันวางใจว่า เขาว่าพวกเราจักมีชัยชนะ จึง

ไม่ทำการผูกสอด เป็นพรรคเป็นพวก พากันหลีกไปตามความชอบใจ

ในเวลาจะกระทำความเพียรพยายามก็ไม่ทำ. ฝ่ายพระราชาทั้งสอง

พระองค์เสด็จขึ้นทรงม้าเข้าไปหากันและกันด้วยหมายมั่นว่า จักต่อ

ยุทธ. อารักขเทวดาของพระราชาทั้งสองออกไปข้างหน้า อารักขเทวดา

ของพระเจ้ากาลิงคะ เป็นโคผู้ขาวปลอดอารักขเทวดา ของพระเจ้าอัสส-

กะ เป็นโคผู้ดำปลอด. โคผู้แม้เหล่านั้นแสดงอาการต่อสู้เข้าไปหากัน

และกัน ก็โคผู้เหล่านั้นย่อมปรากฏเฉพาะแก่พระราชาทั้งสองพระองค์

เท่านั้น ไม่ปรากฏแก่คนอื่น. อำมาตย์นันทเสนทูลถามพระเจ้าอัสสกะ

ว่า ข้าแต่มหาราช อารักขเทวดาปรากฏแก่พระองค์แล้วหรือยัง.

พระเจ้าอัสสกะตรัสว่า เออปรากฏ. นันทเสน ปรากฏโดยอาการ

อย่างไร. พระเจ้าอัสสกะ อารักขเทวดาขอพระเจ้ากาลิงคะปรากฏ

เป็นโคผู้ขาวปลอด อารักขเทวดาของเราปรากฏเป็นโคผู้ดำปลอด.

นันทเสนอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าทรงเกรง

กลัวเลย พวกเราจักชนะ พระเจ้ากาลิงคะจักพ่ายแพ้ พระองค์จง

เสด็จลุกจากหลังม้า ทรงถือพระแสงหอกนี้ เอาพระหัตถ์ซ้ายแตะด้าน

ท้องม้าสินธพที่ศึกษาดีแล้วรีบไปพร้อมกับบุรุษพันคนนี้ เอาหอก

ประหารอารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะให้ล้มลง ต่อแต่นั้น พวก

ข้าพระองค์ประมาณหนึ่งพัน จักประหารด้วยหอกพันเล่ม เมื่อทำ

อย่างนี้ อารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะจักฉิบหาย จากนั้น พระเจ้า

กาลิงคะจักพ่ายแพ้ พวกเราจักชนะ พระราชาทรงรับว่าได้ แล้วเสด็จ

ไปเอาหอกแทงตามสัญญาที่นันทเสนอำมาตย์ถวายไว้ ฝ่ายอำมาตย์

ทั้งหลายก็แทงด้วยหอกพันเล่ม. อารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะก็

ถึงแก่ความตาย ณ ที่นั้นนั่นเอง. ทันใดนั้น พระเจ้ากาลิงคะก็ทรง

พ่ายแพ้เสด็จหนีไป. อำมาตย์ทั้งหลายพันคนเห็นพระเจ้ากาลิงคะเสด็จ

หนีไปก็พากันโห่ร้องว่า พระเจ้ากาลิงคราชหนี. พระเจ้ากาลิงคะ

ทรงกลัวต่อมรณภัยเสด็จหนีไป เมื่อจะทรงด่าพระดาบสนั้น จึงกล่าว

คาถาที่ ๒ ว่า :-

แน่ะดาบสโกง ท่านได้พูดไว้อย่างนี้

ว่า ชัยชนะจักมีแก่พวกพระเจ้ากาลิงคราชผู้

สามารถย่ำยีบุคคลที่ใครๆ ย่ำยีไม่ได้ ความ

ปราชัย ไม่ชนะ จักมีแก่พวกพระเจ้าอัสสกะ

ชนทั้งหลายผู้ซื่อตรงย่อมไม่พูดเท็จ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสยฺหสาหิน ได้แก่ ผู้สามารถ

เพื่อย่ำยีบุคคลที่ใครๆ ย่ำยีไม่ได้ คือย้ำยีได้ยาก. บทว่า อิจฺเจว

เต ภาสิต ความว่า ดูก่อนดาบสโกง ท่านรับเอาค่าจ้างแล้วพูดอย่างนี้

กะพระราชาผู้พ่ายแพ้ว่า จักชนะและพูดกะพระราชาผู้ชนะว่าจักแพ้.

บทว่า น อุชุภูตา ความว่า ชนเหล่าใดเป็นผู้ซื่อตรงด้วยกาย วาจา

และใจ ชนเหล่านั้นย่อมไม่พูดเท็จอย่างนี้.

พระเจ้ากาลิงคราชนั้น เมื่อด่าพระดาบสอย่างนี้ แล้วก็เสด็จ

หนีไปยังพระนครของพระองค์ ไปอาจที่จะเหลียวมามองดู. แต่นั้น

เมื่อล่วงไป ๒-๓ วัน ท้าวสักกะได้เสด็จมายังที่บำรุงของพระดาบส.

พระดาบสเมื่อจะทูลกับท้าวเธอ จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-

ข้าแต่ท้าวสักกะ เทวดาทั้งหลายยัง

ประพฤติล่วงมุสาวาทอีกหรือ พระองค์ควร

กระทำถ้อยคำให้จริงแต่แน่นอนมิใช่หรือ ข้า

แต่ท้าวมั่ฆวาฬผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน พระ-

องค์ทรงอาศัยเหตุอะไรหรือ จึงได้ตรัสมุสา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตนฺเต มุส กาสิต ความว่า

คำใดพระองค์ตรัสไว้แก่อาตมภาพ คำนั้นพระองค์ทรงทำมุสาวาทอัน

หักรานประโยชน์ตรัสเท็จไว้ พระองค์ทรงอาศัยเหตุอะไรหรือจึง

ตรัสคำนั้นอย่างนั้น.

ท้าวสักกะทรงสดับดังนั้นจึงตรัสคาถาที่ ๔ ว่า :-

ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อชนทั้งหลาย

พูดกันอยู่ ท่านก็เคยได้ยินแล้วมิใช่หรือว่า

เทวดาทั้งหลายย่อมเกียดกันความพยายาม

ของลูกผู้ชายไม่ได้ ความข่มใจ ความตั้งใจ

แน่วแน่ ความไม่แตกสามัคคีกัน ความไม่

แก่งแย่งกัน การรุกในกาลควรรุก ความ

เพียรมั่นคง และความบากบั่นของลูกผู้ชาย

(มีอยู่ในพวกพระเจ้าอัสสกะ) เพราะเหตุนั้น

แหละ ชัยชนะจึงมีแก่พวกพระเจ้าอัสสกะ.

คาถาที่ ๔ นั้น มีอธิบายดังนี้ :- ดูก่อนท่านพราหมณ์ เมื่อ

เขาพูดกันอยู่ในที่นั้นๆ ท่านไม่เคยได้ยินคำนี้หรือว่า เทวดาทั้งหลาย

ย่อมไม่เกียดกันคือไม่ริษยาความบากบั่นของลูกผู้ชาย ความข่มใจกล่าว

คือความทรมานตน เช่นการทำความเพียรพยายามของพระเจ้าอัสสกะ

ความมีใจไม่แตกแยกกันโดยมีความสามัคคีกัน ความมีใจตั้งมั่นไม่

แตกแยกกัน ความไม่แก่งแย่งกันในเวลาทำความเพียรแห่งพวกสหาย

ของพระเจ้าอัสสกะ ความไม่ย่อท้อ เหมือนพวกคนของพระเจ้ากาลิงคะ

แยกเป็นพวกๆ ย่นย่อฉะนั้น อนึ่ง ความเพียรพยายามและความ

บากบั่นแห่งลูกผู้ชาย ของตนผู้มีจิตใจแตกแยกกัน ได้เป็นคุณธรรม

อันมั่นคง เพราะความเป็นผู้มีความสมัครสมานกัน เพราะเหตุนั้น

นั่นแหละ ชัยชนะจึงได้มีแก่พวกพระเจ้าอัสสกะ.

ก็แหละเมื่อพระเจ้ากาลิงคราชหนีไปแล้ว พระเจ้าอัสสกราช

ให้กวาดต้อน (เชลยและยุทธภัณฑ์) แล้วเสด็จไปยังพระนครของ

พระองค์. อำมาตย์นันทเสนส่งสาส์นไปถวายพระเจ้ากาลิงคราชว่า

พระองค์จงส่งส่วนทรัพย์มรดกไปถวายพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์นี้

ถ้าไม่ทรงส่งไป พวกเราจักรู้กิจที่จะต้องทำในข้อนี้. พระเจ้ากาลิงคราช

ได้ทรงสดับข่าวสาสน์นั้นแล้ว ทั้งกลัวทั้งสะดุ้งหวาดเสียว จึงส่งพระ-

ราชทรัพย์มรดกที่พระราชธิดาเหล่านั้นจะพึงได้ไปประทาน. จำเดิมแต่

นั้นมา พระราชาทั้งสอง ก็อยู่อย่างสมัครสมานกัน

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงทรงประ-

ชุมชาดกว่า. พระราชธิดาของพระเจ้ากาลิงคราชในกาลนั้น ได้เป็น

ภิกษุณีสาวเหล่านี้ ในบัดนี้ อำมาตย์นันทเสนในครั้งนั้น ได้เป็น

พระสารีบุตรในบัดนี้ ส่วนดาบสในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาจุลลกาลิงคชาดกที่ ๑


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 16 พ.ค. 2552

สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ