กัมมปัจจยอุตุชรูป [เรื่องนางกิสาโคตมี]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒- หน้าที่ 499
๑๓. เรื่องนางกิสาโคตมี [๙๓] ข้อความเบื้องต้น พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนางกิสาโคตมีตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โย จ วสฺสสตํ ชีเว" เป็นต้น. ทรัพย์ของเศรษฐีกลายเป็นถ่าน ได้ยินว่า ทรัพย์ ๔๐ โกฏิ ในเรือนของเศรษฐีคนหนึ่ง ในกรุงสาวัตถี ได้กลายเป็นถ่านหมดตั้งอยู่. เศรษฐีเห็นเหตุนั้นเกิดความเศร้าโศกจึงห้ามอาหารเสีย นอนอยู่บนเตียงน้อย. สหายผู้หนึ่งของเศรษฐีนั้นถามว่า "เหตุไร จึงเศร้าโศกเล่า? เพื่อน" ฟังความเป็นไปนั้นแล้ว กล่าวว่า" อย่าเศร้าโศกเลย เพื่อน, ฉันทราบอุบายอย่างหนึ่ง, จงทำอุบายนั้นเถิด." เศรษฐี. ทำอย่างไรเล่า? เพื่อน. สหาย. เพื่อน ท่านจงปูเสื่อลำแพนที่ตลาดของตน ทำถ่านให้เป็นกองไว้ จงนั่งเหมือนจะขาย, บรรดามนุษย์ที่มาแล้วๆ คนเหล่าใดพูดอย่างนี้ว่า 'ชนที่เหลือ ชายผ้า น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเป็นต้น ส่วนท่านนั่งขายถ่าน,' ท่านพึงพูดกับคนเหล่านั้น ว่า 'เราไม่ขายของๆ ตนจักทำอะไร?' ส่วนผู้ใดพูดกับท่านอย่างนี้ว่า 'ชนที่เหลือ ขายผ้าน้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเป็นต้น, ส่วนท่านนั่งขายเงินและทอง,' ท่านพึงพูดกะผู้นั้นว่า 'เงินและทองที่ไหน?' ก็เมื่อเธอพูดว่า 'นี้,' ท่านพึงพูดว่า 'จงนำเงินทองนั้นมาก่อน, แล้วรับด้วยมือทั้งสอง ของที่เขาให้ในมือของท่านอย่างนั้น จักกลายเป็นเงินและทอง; ก็ผู้นั้นถ้าเป็นหญิง รุ่นสาว, ท่านจงนำนางมาเพื่อบุตรในเรือนของท่าน มอบทรัพย์ ๔๐ โกฏิ ให้แก่นาง พึงใช้สอยเงินทองที่นางให้, ถ้าเป็นเด็กชาย, ท่านพึงให้ธิดาผู้เจริญวัยแล้วในเรือนของท่านแก่เขา แล้วมอบทรัพย์ ๔๐ โกฏิให้แก่เขาใช้สอยทรัพย์ที่เขาให้. ครั้งนั้น หญิงรุ่นสาวคนหนึ่งชื่อโคตมี ปรากฏชื่อว่า "กิสาโคตมี"เพราะนางมีสรีระแบบบาง เป็นธิดาของตระกูลเก่าแก่ ไปยังประตูตลาดด้วยกิจอย่างหนึ่งของตน เห็นเศรษฐีนั้น จึงกล่าวอย่างนั้นว่า "พ่อ ชนที่เหลือ ขายผ้า น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเป็นต้น. ทำไมท่านจึงนั่งขายเงินและทอง?" เศรษฐี. เงินทองที่ไหน? แม่. นางโคตมี. ท่านนั่งจับเงินทองนั้นเอง มิใช่หรือ? เศรษฐี. จงนำเงินทองนั้นมาก่อน แม่. นางกอบเต็มมือแล้ว วางไว้ในมือของเศรษฐีนั้น. ถ่านนั้นได้กลายเป็นเงินและทองทั้งนั้น. ลำดับนั้น เศรษฐีถามนางว่า "แม่ เรือนเจ้าอยู่ไหน." เมื่อนางตอบว่า "ชื่อโน้นจ้ะ." รู้ความที่นางยังไม่มีสามีแล้ว จึงเก็บทรัพย์นำนางมาเพื่อนบุตรของตน ให้รับทรัพย์ ๔๐ โกฏิไว้. ทรัพย์ทั้งหมดได้กลาย เป็นเงินและทองดังเดิม.