พิจารณาหาตัวตนในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 พ.ค. 2552
หมายเลข  12421
อ่าน  6,197

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ...

“ดูกร ท่านพระอุทายี บุรุษต้องการแก่นไม้เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้ถือเอาขวานอันคมเข้าสู่ป่า พบต้นกล้วยใหญ่ ตรง ไม่รุงรังในป่านั้น พึงตัดที่โคนต้น แล้วตัดที่ปลาย ครั้นแล้วลอกกาบออก แม้กระพี้ที่ต้นกล้วยนั้นก็ไม่พบ ที่ไหนจะพบแก่นไม้ ฉันใด

ดูกร ท่านพระอุทายี ภิกษุจะพิจารณาหาตัวตนหรือสิ่งที่เป็นตัวตนในผัสสายตนะ ๖ ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเล็งเห็นอยู่อย่างนี้ก็ไม่ยึดถือสิ่งใดในโลก เมื่อไม่ยึดถือ ก็ไม่ดิ้นรน เมื่อไม่ดิ้นรนก็ปรินิพพานโดยแน่แท้ ย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี”

ข้อความตอนท้ายที่ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “ดูกร ท่านอุพระอุทายีบุรุษต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้ ถือเอาขวานอันคมเข้าสู้ป่า พบต้นกล้วยใหญ่ ตรง ไม่รุงรังในป่านั้น” เมื่อเป็นต้นกล้วยก็ยังเป็นท่าทางเพราะรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน

“พึงตัดที่โคนต้น แล้วตัดที่ปลาย ครั้นแล้วลอกกาบออก” คือ ต้องเพิกถอนสิ่งที่เคยยึดถือรวมกัน ประชุมกันเป็นวัตถุ เป็นตัวตน เป็นท่าทางออก“ แม้กระพี้ที่ต้นกล้วยนั้นก็ไม่พบ ไฉนจะพบแก่นได้” จึงจะละการยึดถือว่าเป็นต้นกล้วย เช่นเดียวกับโคทั้งตัว ถ้ายังไม่ลอกหนังออก ไม่ตัดชิ้นส่วนต่างๆ ออก ก็ยังคงเห็นเป็นโคนอนอยู่ ตราบใดที่รูปทั้งหลายยังประชุมรวมกันอยู่ก็จำไว้เป็นท่าทาง เป็นอาการใดอาการหนึ่ง และยังคงเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นวัตถุ เป็นตัวตนบุคคลอยู่ ต่อเมื่อใดรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อนั้นจึงจะไม่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เหมือนการลอกกาบออกแม้กระพี้ที่ต้นกล้วยก็ไม่พบ ไฉนจะพบแก่นได้ ฉันใด

“ดูกร ท่านพระอุทายี ภิกษุจะพิจารณาหาตัวตนหรือสิ่งที่เป็นตัวตนในผัสสายตนะ๖ ไม่ได้” ในผัสสายตนะ ๖ ไม่ได้มีท่าทางอะไรเลย ตาเป็นอายตนะหนึ่ง รูปายตนะเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ถ้าตราบใดที่ยังเห็นเป็นคนกำลังนั่งขณะนั้นจะกล่าวว่าไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นแต่เพียงความคิดนึกเอาเองว่าไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่ประจักษ์ว่าไม่ใช่ตัวตนจริงๆ

ปัญญาจะต้องรู้ว่าขณะที่เห็นนั้นเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น หลังจากนั้นจึงตรึกหรือจำ สัณฐานของสิ่งที่ปรากฏแล้วจึงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร แม้ขณะนั้นก็เป็นนามธรรมที่รู้ที่จำ ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน ทางหูซึ่งได้ยินนั้นก็ไม่มีความทรงจำเหลือค้างอยู่จากทางตาว่ากำลังเห็นคนนั่งคุยกัน หรือกำลังพูด เพราะขณะนั้นสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่ได้ยินซึ่งเป็นธาตุรู้เสียงเท่านั้น แล้วหลังจากนั้นจิตจึงคิดนึกคำหรือเรื่องตามเสียงต่ำเสียงสูงที่ได้ยิน ปัญญารู้ว่าขณะที่รู้คำนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่รู้คำ

เมื่อรู้สภาพธรรมทั้งหลาย เป็นนามธรรมและรูปธรรม แต่ละลักษณะความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน จึงละคลายลงและความทรงจำที่ยึดถือรูปรวมกันเป็นท่าทางจึงจะหมดไป แล้วจะเข้าใจอรรถที่ว่า “ความสงบในภายใน” เพราะจิตไม่ได้ออกไปยุ่งเกี่ยวภายนอกซึ่งเป็นตัวตน คน สัตว์ เลย ไม่มีโลกเก่าซึ่งเป็นโลกภายนอกที่เต็มไปด้วยผู้คน วัตถุ สิ่งต่างๆ ที่เคยยึดถือว่าเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้อย่างเที่ยงแท้ถาวร แต่ว่าสติเกิดขณะใดปัญญารู้ชัดขณะนั้นจึงเป็นความสงบภายใน เพราะไม่มีคน สัตว์ วัตถุใดๆ ที่ไม่สงบเพราะคนเยอะ มีเรื่องมาก ถ้าเป็นบุคคลที่เคยมีความสัมพันธ์หรือมีเรื่องราวที่เคยเกี่ยวข้องกัน พอเห็นนิดเดียวก็ต่อเป็นเรื่องยาว แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่เคยรู้จักเรื่องก็สั้นพอเห็นก็คิดนิดเดียวก็หมดแล้ว ไม่ได้ติดตามไปเป็นเรื่องราวต่างๆ

ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 20 พ.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
kampan
วันที่ 10 พ.ย. 2552

สาธุ ดีหลาย ..

น่าจะมี....หลักการพิจารณา หรือแนวควงามคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือหลักธรรมชนิดเดียวกันจาก...บุคคลอื่นๆ หรือหนังสือเล่มอื่นๆ อีก จะเป็นประโยชน์ยิ่ง

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
homenumber5
วันที่ 21 ม.ค. 2553

เรียนท่าน kampan

หัวข้อะรรมนี้ว่า พิจารณาหาตัวตนในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้ ขอเสนอว่าหัวข้อนี้มีความหมายของหัวข้อหมายถึงการทำวิปัสนาด้วย ตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจไม่ได้ จะสามารถอธิบายได้เพิ่มเติม มากขึ้น ตามที่สิกขาปรมัตถธรรม คือจิตเจตสิกรูป นั้น ในเรื่องจิต ตามพระอภิธรรมมีอยู่ กลุ่มโลภมูลจิต ๘ กลุ่มโทสมูลจิต มี ๒ กลุ่มโมหมูลจิตมี ๒ อเหตุกะจิต มี สามกลุ่ม กลุ่มอหเตกะ อกุสลวิปากจิต ๗ และ อเหตุกะกุสลวิปากจิต ๘ และ อหเตกิริยาจิต ๓

ในอหเตกอกุสลวิปากจิตและอเหตุกะกุสลวิปากจิต นั้น มี ทวิปัญจวิญยาณ ๑๐ ที่ผ่านทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เนื่องจาก จิตทั้ง ๑๐ นี้เป็นอหเตกะจิต หมายถึง ไม่สามารถทำวิปัสนาได้เลย เพราะเมื่อ ตากระทบรูป จิตรับรู้แล้วไปได้ทั้งกุสลวิปากและอกุสลวิปาก ไม่มี คุณสมบัติในการทำวิปัสนาได้เลย เนื่องจากไม่ใช่โลกุตรฌานจิตในโลกุตรฌานจิตเท่านั้น ทั้งหมดมี ๔๐ คือ

โสดาปัตติมัคคจิต ๕ โสดาปัตติผลจิต ๕

สกทาคามิมัคคจิต ๕ และสกทาคามีผลจิต ๕

อนาคามิมัคคจิต ๕ และอนาคามีผลจิต ๕

อรหัตตมัคคจิต ๕ และอรหัตตผลจิต ๕

กลุ่มนี้เป็นโลกุตรฌานจิต เท่านั้นที่สามารถพิจารณาวิปัสนาได้ แม้แต่ในรูปพรหม อรูปพรหม ที่พระอาจารย์ของเจ้าชายสิทธัตภะ ได้ฌานอยู่นั้นก็เป็นโลกียฌานจิตไม่สามารถพิจารณาวิปัสนาธรรมได้วิปัสนาธรรต้องมีการสิกขา วิปัสสนาภูมิอย่างลึกซึ้งเข้าใจดียิ่งในเรื่องนามรูป ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ เพื่อให้ได้ถึง อริยสัจจ ๔ เพื่อพิจารณาเป็นวิปัสสนาธรรม ได้แก่ วิสุทธิ ๗ อนุปัสสนา ๓ วิปัสสนาญาณ ๑๐ วิโมกข์ ๓ อนุปัสสนาวิโมกข์ ๓ เพื่อให้ถึง มัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑

จากที่กล่าวมานี้ มีองค์ธรรมมากก่อนที่จิตจะสามารถเข้าสุ่การทำวิปัสสนา จิตต้องพัฒนาจาก อกุสลจิต ๑๒ ขึ้นไป ในปุถุชน แต่ปุถุชนมีอเหตุกะจิตมาปฏิสนธิด้วย จึงมีโสตะ คือหู มาเพื่อฟังธรรมและนำธรรมพระพุทธองค์ไปสะสมในจิต เพื่อเตรียมพัฒนาจิตไปสู่โลกุตร ที่ว่าต้องฟังๆ ธรรมตลอดไป ไม่ท้อถอยนะ เพราะองค์ธรรมเพื่อการวิปัสสนามีมากลึกซึ้งมาก ต้องสะสมสะสมหลายๆ ชาติ ชาตินี้โชคดีมากได้มาเรียนปรมัตถธรรมแล้ว อย่าท้อค่ะ

สำหรับดิฉัน อธิษฐานว่าจะขอละโมหะ ให้ได้ก่อน โมหะเป็นที่มาของอวิชชา ส่วนโลภะ โทสะ ขอให้ละโมหะ คือต้องเข้าใจปรมัตถธรรมเป็นเบื้องต้นก่อน จึงต้องฟังธรรมๆ ตลอดเวลา จึงจะเป็นกุสล ธรรมที่ฟังต้องไม่ขัดพระไตรปิฏกด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khan
วันที่ 14 มิ.ย. 2553

ขออนุโมทนากับท่านผู้ฟังธรรมด้วยค่ะ สำหรับเว็บไซค์ของท่านอาจารย์ ถ้าไม่ศรัทธาในระดับหรือเข้าถึงความซาบซึ้ง ในพระธรรมคำสอนจริงๆ แล้ว จะไม่มีวิริยะที่จะฟังได้นานจนถึงแก่นค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pamali
วันที่ 4 พ.ย. 2553

กราบอนุโมทนาท่านอจ. และทุกๆ ท่านค่ะ... สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
รษิพร
วันที่ 5 พ.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เข้าใจ
วันที่ 25 มิ.ย. 2555

ล้วนเป็นพระธรรมที่วิจิตรจริงๆ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
sammd073
วันที่ 27 ธ.ค. 2555

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Komsan
วันที่ 31 ก.ค. 2558

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
peem
วันที่ 12 ธ.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
worrasak
วันที่ 12 ต.ค. 2559

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
วิริยะ
วันที่ 18 เม.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Somporn.H
วันที่ 5 มี.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 21 มี.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ