อยู่ในโลกของความคิดนึก
เมื่ออบรมเจริญปัญญาจริงๆ ก็จะเห็นพระคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด ตั้งแต่ขั้นปาติโมกขสังวรศีล ความประพฤติทางกายและทางวาจาที่ควรแก่สมณะ คือเพศบรรพชิตผู้สงบ แม้แต่การมองก็มองชั่วแอกเพื่อให้ระลึกอยู่เสมอว่า ไม่ควรต่อเรื่องให้ยืดยาว เมื่อเห็นแล้วก็ไม่ควรคิดวิจิตรเป็นคนนั้น เป็นคนนี้ เรื่องนั้น เรื่องนี้มากมาย เมื่อเห็นแล้วก็รู้ว่าเป็นเพียง “เห็น” จะชั่วแอกหรือไม่ชั่วแอกก็ตาม เห็นแล้วก็จบ ขณะนั้นก็จะไม่ผูกพันเยื่อใยในนิมิต อนุพยัญชนะ
เมื่อปัญญารู้ชัดจริงๆ ว่าที่เคยเห็นเป็นโลกภายนอกมีคนมากมายนั้น ก็เป็นเพราะคิด ถ้าไม่คิด เพียงเห็นแล้วก็หมด จะมีคนเยอะไหม แต่เพราะเคยคิดมานาน เพราะฉะนั้น ก็ย่อมคิด แล้วแต่ว่าจะคิดอะไร แม้ว่าจะเห็นสิ่งเดียวกัน แต่ละคนคิดไม่เหมือนกันเลยตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา เช่น เห็นดอกไม้ท่านหนึ่งพอใจว่าสวย อีกท่านหนึ่งว่าไม่สวย ฉะนั้น สวยหรือไม่สวยจึงเป็นความคิดของแต่ละคน
โลกที่แท้จริงจึงเป็นโลกของความคิดของแต่ละบุคคล เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ ก็จะรู้ชัดว่าขณะนั้นเป็นนามธรรมที่กำลังคิดเรื่องต่างๆ เท่านั้น ไม่ว่าจะคิดอะไรก็ตาม เมื่อรู้ลักษณะของนามธรรมที่คิดก็รู้ว่าเรื่องราวที่เป็นคน สัตว์ต่างๆ ไม่มีจริงๆ
ขณะที่เป็นทุกข์กังวลใจก็รู้ว่าทุกข์ เพราะความคิด ขณะที่เป็นทุกข์ก็โดยนัยเดียวกัน ขณะที่ดูโทรทัศน์เรื่องที่ชอบใจก็เป็นสุข เพราะคิดตามภาพที่เห็น ฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม ก็อยู่ในโลกของความคิดนึกนั่นเอง โลกแต่ละขณะจึงเป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วก็คิดนึกต่อทางใจเป็นเรื่องราวต่างๆ เท่านั้นเอง
ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป
ขณะที่เรามีความคิดนึก โดยไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้แต่เราก็มีจิตที่เป็นวิริยะเพียงน้อยนิดที่จะมีสติ หรือจิตที่มีอยู่นี้ก็รู้ได้ในเรื่องหยาบๆ เช่น ตาไปดูทีวีเป็นภาพยนตร์ที่มีวิวสวยๆ แล้วมีเสียงดนตรีประกอบที่เราชอบ ในขณะนั้น จิตเรารู้ได้ว่าเรามีความสุข พอใจ และมีพลังให้จิตที่จะทำกุศลขึ้นมา เช่น สวดมนต์ อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับ พระพุทธเจ้า หรือพระไตรปิฎกเช่นอภิธรรมแม้จะเข้าใจยากยิ่ง (โชคดีมากค่ะที่มีเว็บไซค์ของท่านอาจารย์ที่ได้ขยายความเรื่องของความละเอียดของจิต ที่มีรูปธรรม นามธรรมประกอบแบบขั้นลึกซึ้งจริงๆ พึ่งได้รู้จริงๆ ค่ะว่านามธรรมประกอบด้วย จิต และเจตสิกแล้วยังมีย่อยๆ อีก เป็น จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ก็ยังต้องศึกษาขั้นประจักษ์อีก ขอบคุณค่ะ)
ที่ถามมา คือ อยากทราบว่า ขณะนั้นจิตเป็นอกุศลเกิดขึ้น คือกามภพ แล้วมันทำให้เราเกิดกุศลขึ้นมาได้ ก็รอบตัวเรามีแต่อกุศลมากกว่ากุศล
กราบอนุโมทนาค่ะ
ขอกราบท่านอาจารย์ค่ะ เพราะดิฉัน ได้อ่านได้สัมผัสจากถ้อยคำวลีทุกประโยคที่ได้ยินได้ฟัง ทำให้มีสติและมีชีวิตอย่างมีกำลัง หลังจากที่สูญเสียคุณแม่ มีพระธรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัยของจิต
ขออนุโมทนาค่ะ
เรียนท่านผู้รู้และมีเมตตา
ดิฉันเป็นมือใหม่ (มากๆ ) ในทางธรรม ได้พยายามจะอ่านหนังสือปรมัตถธรรมของท่านอาจารย์สุจินต์ (ซึ่งพบจากเวปนี้โดยบังเอิญ-เป็นโชควาสนา) แต่อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ยังพยายามจะอ่าน (เพราะมีข้อสงสัยของตัวเอง พยายามจะหาคำตอบจากหนังสือ เผื่อว่าจะเจอ) และหวังว่าการอ่านซ้ำๆ น่าจะช่วยขยับเพิ่มความเข้าใจได้ทีละนิด ขณะนี้ยังอ่านไม่ถึง 1 จบ และยังไม่ได้คำตอบต่อข้อที่สงสัย เพื่อให้ดิฉันมีกำลังใจอ่านต่อ (ขอโทษที่นึกเพื่อตัวเองอย่างเดียวเลย) จึงขอความช่วยเหลือจากผู้รู้ที่มีเมตตาต่อเด็ก (ในทางธรรม) อย่างดิฉันด้วยคือ
1."ความคิดนึกเป็นจิต"หรือคะ ดิฉันเห็นจากในหนังสือปรมัตถธรรม หรือว่าดิฉันเข้าใจผิด เพราะยอมรับว่าบางครั้งอ่านข้าม เนื่องจากเป็นเด็กที่ข้ามมาอ่านหนังสือผู้ใหญ่ จึงไม่ค่อยรู้เรื่อง บางครั้งจึงข้ามบ้าง
2.ดิฉันรู้สึกว่า บางครั้งเคยเห็น ความคิดของตัวเองที่เรื่อยเปื่อยไร้สาระและไม่เกี่ยวกับตัวเองเลย เหมือนคนแต่งนิยาย เวลาที่ใกล้หลับหรือเหม่อ แต่พอมีสติรู้ตัว ความคิดเรื่อยเปื่อยนั้นก็หยุด ไม่ว่าความคิดจะเป็นจิตหรือเจตสิกก็ตาม ดิฉันสงสัยว่า ทำไมมันจึงฟุ้งไปสร้างเรื่องราวที่ไม่เกี่ยวกับตัวเองเลยแม้แต่นิดเดียว ดิฉันไม่เข้าใจสิ่งนี้เลยค่ะ
ขอบพระคุณมากนะคะ หากจะมีคนกรุณาคนหน้าใหม่และมือใหม่ (จริงๆ )
เรียนความเห็นที่ 8 ครับ
1."ความคิดนึกเป็นจิต"หรือคะ ดิฉันเห็นจากในหนังสือปรมัตถธรรม หรือว่าดิฉันเข้าใจผิด เพราะยอมรับว่าบางครั้งอ่านข้าม เนื่องจากเป็นเด็ก (ทางธรรม) ที่ข้ามมาอ่านหนังสือ ผู้ใหญ่จึงไม่ค่อยรู้เรื่อง บางครั้งจึงข้ามบ้าง
- ความคิดนึก เป็นสภพาธรรมที่มีจริง ที่เป็นนามธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ หมายถึงว่า เมื่อความคิดเกิดขึ้น จะต้องรู้อะไรบางอย่าง นั่นคือขณะที่มีความคิดนึกเกิดขึ้น จะต้องมีสิ่งที่ถูกคิด สิ่งที่ถูกคิด เรียกว่า อารมณ์ เพราะฉะนั้น ความคิดนึกจึงเป็นนามธรมเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ ซึ่ง ความคิดนึก ก็ไม่พ้นจากนามธรรม คือ จิต เจตสิก อาศัยจิตที่เป็นใหญ่ในการรู้ ก็ทำให้มีการคิดนึก เพราะ อาศัยจิต และ อีกนัยหนึ่ง วิตกเจตสิกก็ทำหน้าที่ ตรึกนึกคิดได้ ครับ
2.ดิฉันรู้สึกว่า บางครั้งเคยเห็น ความคิดของตัวเองที่เรื่อยเปื่อยไร้สาระและไม่เกี่ยวกับตัวเองเลย เหมือนคนแต่งนิยายไม่มีราคา เวลาที่ใกล้หลับหรือเหม่อ แต่พอมีสติรู้ตัวความคิดเรื่อยเปื่อยนั้นก็หยุด ไม่ว่าความคิดจะเป็นจิตหรือเจตสิกก็ตาม ดิฉันสงสัยว่า ทำไมมันจึงฟุ้งไปสร้างเรื่องราวที่ไม่เกี่ยวกับตัวเองเลยแม้แต่นิดเดียว ดิฉันไม่เข้าใจสิ่งนี้เลยค่ะ
พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ครับว่า วิตกเจตสิก ที่เป็นสภาพธรรมที่ตรึก นึกคิด และอาศัยจิตด้วยนั้น ท่านเปรียบเหมือนเท้าของโลก คือ ก้าวไปทุกที่ ทุกเวลาได้ คิดเรื่องต่างๆ อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว และ จิต เมื่อเกิดขึ้น ก็ย่อมคิดนึก ไปในเรื่องราวต่างๆ ตามความทรงจำไว้ ที่เคยจำไว้ จำไว้ในเรื่องอะไร ก็คิดไปในเรื่องนั้น เพียงแต่ว่า จะคิดด้วยกุศล หรืออกุศล ซึ่ง เพราะ อาศัยกิเลสเป็นปัจจัย ก็ทำให้คิดไปในเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่รอบตัว และ คิดเรื่องตนเองก็ได้ แต่คิดด้วยจิตที่เป็นอกุศล ด้วยความฟุ้งซ่านเพราะอาศัยเหตุ คือ กิเลสเป็นสำคัญ ครับ
และ ท่านเปรียบ จิต ดังเช่น ลิง คือ ลิงย่อมอยู่ไม่สุข เที่ยวไป เที่ยวมาในที่ต่างๆ จิตที่มากด้วยกิเลสก็เช่นกัน เปรียบเหมือนลิง ที่ อยู่ไม่สุข เที่ยวไปมาในอารมณ์ต่างๆ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ คิดไปในเรื่องราวต่างๆ ซึ่งการจะจับลิง ห้ามไม่ให้ลิงไปที่ไหน หรือ ห้ามจิต ไม่ให้ฟุ้งซ่านด้วยอกุศล ไม่ใช่ตัวเราที่จะห้ามได้ แต่มีสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ ปัญญาที่สามารถตัดกิเลส ได้ จนหมดสิ้น ห้ามจิตที่เคยคิดไม่ดี ไปในอารมณ์ต่างๆ เป็นจิตที่ไม่มีอกุศล คิดไปในทางที่ดีได้ครับ ดังนั้น จิตเมื่อเกิดขึ้น ก็ต้องคิดเป็นไปในอารมณ์ต่างๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะคิดด้วยกุศลจิต หรือ อกุศลจิต เพราะฉะนั้น อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมย่อมที่จะทำให้คิด ตรึกไปในทางกุศล ในทางที่ดี แทนที่การคิดด้วยอกุศลได้มากขึ้น ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ฟังธรรมมากๆ ต่างกับฟังน้อย ฟังน้อยๆ ก็ต่างกับไม่สนใจฟัง
ขอบพระคุณทุกท่านที่มีส่วนในการสนทนาธรรม
ขอบคุณมากครับ ขออนุโมทนาครับ ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ