การทำสมาธิ
การทำสมาธิทำให้จิตสงบหรือไม่ คนส่วนใหญ่มักมีจุดมุ่งหมายในการทำสมาธิเพื่อให้เกิดความสงบ ไม่วุ่นวายใจ หรือเพื่อไม่ให้โกรธ เป็นความเข้าใจถูกหรือไม่
สมาธิมี ๒ อย่าง คือ สัมมาสมาธิ ๑ มิจฉาสมาธิ ๑
ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ จิตไม่สงบ
ในคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีจุดมุ่งหมายในการทำสมาธิเพื่อให้เกิดความสงบ ไม่วุ่นวายใจ หรือเพื่อไม่ให้โกรธ
สัมมาสมาธิ มีปัญญาประกอบด้วย แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยและเกิดกับโลภมูลจิต คือจิตที่พอใจในความนิ่งนั้น ผู้ที่มีปัญญาจะสามารถรู้ความต่างกันของโลภะ โมหะ และกุศลจิต ส่วนผู้ที่ไม่รู้ความต่างกันของกุศลจิตกับอกุศลจิต ย่อมเจริญมิจฉาสมาธิ
อนุโมทนา คุณ chatchai.k ที่นำพระธรรมให้ฟัง จนเข้าใจได้ว่าไม่มีเหตุอื่นใดเลยที่จะให้ปัญญาเกิดได้ นอกจากได้ยินได้ฟังพระธรรมที่มีเหตุผลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง สามารถที่จะไตร่ตรองได้ว่าปัญญาเกิดเองไม่ได้ ทำขึ้นไม่ได้ เพราะปัญญาเป็นธรรมะที่อาศัยเหตุปัจจัย จากการฟัง การพิจารณา ตรวจสอบ เทียบเคียง ธรรมะ ที่ได้ยิน ฟังจนไม่เข้าใจผิดว่าต้องทำสมาธิก่อน เพราะมัวคิดทำสมาธิ โดยไม่ฟังพระธรรมให้เข้าใจ ว่า ไม่มีเราทำสมาธิ และตัวตนที่เข้าใจผิดว่าเรา (อัตตา) ทำสมาธิ เป็นทางแห่งปัญญา
การทำสมาธิทำให้ใจสงบจริง แต่เป็นจุดมุ่งหมายของศาสนาอื่น ในทางพระพุทธศาสนา จุดมุ่งหมายคือเจริญปัญญา โดยเอาสมาธิเป็นฐาน แล้วยกสู่วิปัสสนา
การฝึกทำสมาธิก็เพื่อทำให้จิตใจสงบ และเวลาทำสมาธิก็ต้องมีสติอยู่กับการทำงานหรือการทำอะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องมีสมาธิ ถ้าเวลาทำงานทำอะไรไม่มีสมาธิแล้วจิตใจก็ว้าวุ่นไม่มีสติ การทำสมาธินั้นไม่จำเป็นนั่งหลับตาอย่างเดียว เช่น เดิน นั่ง ยืน รับประทานอาหาร หรือทำอะไรก็แล้วแต่ก็ต้องมีสมาธิ การทำสมาธิภาวนาให้อยู่ในพุทโธตลอดเวลาแล้วท่านก็จะเกิดปัญญาขึ้น แล้วพอท่านเกิดปัญญาแล้วให้ท่านพิจารณาปัญญา แล้วท่านจะเกิดวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นนั่นเอง
ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิไม่ทำให้เกิดปัญญาและวิมุตติ การศึกษาพระธรรมย่อมทำให้เกิดปัญญา เข้าใจความจริงไม่หลงผิดในสิ่งต่างๆ ผู้ที่มีปัญญาย่อมรู้แจ้งตามความเป็นจริง เมื่อรู้แจ้งความจริงย่อมเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น
ขอร่วมแสดงความคิดเห็นในความเห็นที่ 8 และ 9 ช่วยพิจารณาดังนี้
สมาธิ ความตั้งใจมั่นแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต เป็นเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท มีทั้งสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ
สมถภาวนา การอบรมเจริญความสงบของจิต ต้องมีสติสัมปชัญญะ รู้สภาพที่ต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิตขณะนั้น
วิปัสสนาภาวนา การอบรมเจริญปัญญา เป็นสติสัมปชัญญะที่สามารถรู้สภาพต่างกันของรูปธรรมและนามธรรมตามความเป็นจริง
เหตุใกล้ของปัญญา การได้ยิน ได้ฟังธรรมะที่ถูกต้อง
อย่าลืมกฎของอนัตตา ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ ทุกอย่างเป็นธรรมะ ธรรมะทำหน้าที่ของธรรมะ เช่น สติ ทำหน้าที่ระลึกรู้ ปัญญาทำหน้าที่เข้าใจถูกต้อง ตามความเป็นจริงในสภาพธรรมะที่เกิดขึ้น ไม่มีเรา ไม่มีตัวตนที่จะไปทำอย่างนั้นอย่างนี้
ดังนั้น คำว่า "ยกสู่วิปัสสนา" อะไรยก
"การทำสมาธิภาวนาให้อยู่ในพุทโธตลอดเวลา" บังคับบัญชาได้หรือ
ขออนุโมทนาคุณ saifon.p ค่ะ
เห็นด้วยค่ะ ทำไมต้องยกสู่วิปัสสนา อะไรยก การเจริญวิปัสสนาเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องเจริญสมาธิก่อน
สมาธินั้นเป็นฐาน เมื่อจิตมีสมาธิจะเกิดปัญญาได้ง่าย ที่ว่ายกนั้น คือ การที่เจริญวิปัสสนาโดยการทำสมาธิก่อน หมายถึง การทำสมาธิก่อนแล้วยกจิตที่มีสมาธิไปพิจารณาข้อธรรม (วิปัสสนา) ซึ่งละเอียดขึ้นไปอีกดังที่มีอยู่ในไตรสิกขา ที่ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
ทำสมาธิแล้วยกจิตไปพิจารณา ไม่ถูกค่ะ เพราะยึดถืดว่าเป็นเรา อย่าลืมว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็มีสัมมาสมาธิเกิดร่วมด้วยอยู่แล้ว ไม่ต้องไปทำ เพียงฟังให้เข้าใจ จนเป็นสัญญาความจำที่มั่นคงว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมค่ะ
สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง ดังนั้น จึงไม่มีตัวตนไปทำสมาธิ แต่ฟังให้เข้าใจถึงหนทางการอบรมปัญญา ลองฟังไฟล์ธรรมในเว็บนี้นะครับ และร่วมสนทนาในข้อธรรมกันอีกครับ เพื่อความเข้าใจมากขึ้น
ขออนุโมทนา
[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 470
เชิญคลิกอ่านที่ ...