การถามปัญหาเกี่ยวกับชาติโคตร [สุนทริกสูตร]

 
เมตตา
วันที่  23 พ.ค. 2552
หมายเลข  12445
อ่าน  1,225
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 423

สุนทริกสูตรที่ ๑

๔ ว่าด้วยการถามปัญหาเกี่ยวกับชาติโคตร [๓๕๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสุนทริกา แคว้นโกศลชนบท ก็สมัยนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์บูชาไฟ บำเรอการบูชาไฟอยู่ฝั่งแม่น้ำสุนทริกา. ครั้งนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ครั้นบูชาไฟบำเรอไฟแล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะ เหลียวดูทิศทั้งสี่โดยรอบด้วยคิดว่าใครหนอแล ควรบริโภคข้าวปายาสที่เหลือนี้ สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ทรงคลุมพระกายตลอดพระเศียรอยู่ที่โคน-ไม้แห่งหนึ่ง จึงถือเอาข้าวปายาสที่เหลือด้วยมือซ้าย ถือเต้าน้ำด้วยมือข้างขวาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปิดพระเศียรออก เพราะเสียงฝีเท้าของสุนทริกภารทวาชพราหมณ์. ครั้งนั้นสุนทริกภารทวาชพราหมณ์คิดว่า ท่านผู้นี้เป็นคนโล้นๆ ดังนี้แล้ว ปรารถนาจะกลับจากที่นั้น. ลำดับนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ดำริว่า แม้พราหมณ์บางพวกในโลกนี้ก็เป็นคนโล้น ผิฉะนั้นเราพึงเข้าไปถามถึงชาติ ลำดับนั้นแลสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านมีชาติอย่างไร. ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถาว่า


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 23 พ.ค. 2552

[๓๕๙] เราไม่ใช่พราหมณ์ ไม่ใช่ราชโอรส ไม่ใช่แพศย์หรือใครๆ

เรากำหนดรู้โคตรของปุถุชนแล้ว ไม่มีความกังวล

เที่ยวไปด้วยปัญญาในโลก เรานุ่งห่ม (ไตรจีวร) สังฆาฏิ

ไม่มีเรือน ปลงผมแล้ว มีตนดับความเร่าร้อนแล้ว

ไม่คลุกคลีกับด้วยมนุษย์ (มาณพ) ทั้งหลายในโลกนี้

เที่ยวไปอยู่ ท่านถามถึงปัญหาเกี่ยวด้วยโคตรอันไม่สมควรกะเรา.

..................................................

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 11 มิ.ย. 2552

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 424

ดูก่อนพราหมณ์ผู้เจริญพวกพราหมณ์ ย่อมถามกับพวกพราหมณ์ด้วยกันว่าท่านเป็น พราหมณ์หรือหนอ ถ้าว่าท่านกล่าวว่าเรา เป็นพราหมณ์ แต่ท่านกล่าวกะเราผู้มิใช่ พราหมณ์ เพราะเหตุนั้น เราขอถามสาวิตรี ซึ่งมีบท ๓ มีอักขระ ๒๔ กะท่าน. พราหมณ์ทูลถามว่า พวกฤๅษี มนุษย์ กษัตริย์ และ พราหมณ์เป็นอันมากในโลกนี้ อาศัยอะไร ได้กำหนดยัญแก่เทวดาทั้งหลาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า เราขอบอกว่าผู้ถึงที่สุดทุกข์ ถึงที่สุด

เวท จะพึงได้เครื่องบูชา ในเมื่ออาหาร อย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ใดเข้าไปตั้งไว้ในกาล แห่งยัญ ยัญกรรมของผู้นั้นพึงสำเร็จ. พราหมณ์ทูลว่า การบูชาของข้าพเจ้านั้น พึงสำเร็จ เป็นแน่แท้ เพราะข้าพเจ้าได้พบบุคคลผู้ถึง เวทเช่นนั้น อันที่จริง คนอื่นย่อมได้บริโภค เครื่องบูชา เพราะไม่ได้พบบุคคลผู้เช่นท่าน. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เพราะเหตุนั้นแหละพราหมณ์ ท่าน ผู้มีความต้องการด้วยประโยชน์ จงเข้าไป ถามเถิดท่านจะพบผู้มีปัญญาดี ผู้สงบ ไม่มี ความโกรธ ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ใน ศาสนานี้แน่แท้.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 11 มิ.ย. 2552

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖- หน้าที่ 426 ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้นท่านจง เงี่ยโสตลงเถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านอย่าถามถึงชาติ จงถามแต่ธรรมสำหรับ ประพฤติเถิด ไฟย่อมเกิดแต่ไม้แล แม้ผู้ที่ เกิดในสกุลต่ำ เป็นมุนีมีปัญญ เป็นผู้เกียด กันอกุศลวิตกด้วยหิริ รู้เหตุการณ์ได้โดย ฉับพลันก็มี. พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ พึงบูชา พึงหลั่ง ไทยธรรมในทักขิไณยบุคคลผู้ที่ฝึกตนด้วย สัจจะผู้ประกอบด้วยการฝึกฝนอินทรีย์ ผู้ถึง ที่สุดแห่งเวท ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ตามกาล. ชนเหล่าใดละกามทั้งหลายได้แล้ว ไม่ยึดมั่นอะไรๆ เที่ยวไป มีตนสำรวมดีแล้ว เหมือนกระสวยที่ไปตรง ฉะนั้น พราหมณ์ ผู้มุ่งบุญพึงบูชา พึงหลั่งไทยธรรม ในชน เหล่านั้นตามกาล. ชนเหล่าใดปราศจากราคะ มีอินทรีย์ ตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นแล้วจากการจับของ กิเลส เปล่งปลั่งอยู่ เหมือนพระจันทร์ที่พ้น แล้วจากการเบียดเบียนของราหู สว่างไสว อยู่ ฉะนั้น พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรม ในชนเหล่านั้นตามกาล. ชนเหล่าใดไม่เกี่ยวข้อง มีสติทุกเมื่อ ละนามรูป ที่คนพาลถือว่าเป็นของเราได้แล้ว เที่ยวไปในโลก พราหมณ์พึงหลั่งไทยธรรม ในชนเหล่านั้นตามกาล. พระตถาคตละกามทั้งหลายได้แล้ว ครอบงำกามทั้งหลายเที่ยวไป รู้ที่สุดแห่ง ชาติและมรณะ ดับความเร่าร้อนได้แล้ว เป็นผู้เยือกเย็นเหมือนห้วงน้ำ ย่อมควรเครื่อง บูชา. พระตถาคตผู้เสมอด้วยพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย อยู่ห่างไกลจากบุคคลผู้ไม่เสมอ ทั้งหลาย เป็นผู้มีปัญญาไม่มีที่สุด ผู้อัน ตัณหาทิฏฐิไม่ฉาบทาแล้ว ในโลกนี้หรือใน โลกอื่น ย่อมควรเครื่องบูชา. พระตถาคตผู้เป็นพราหมณ์ ไม่มี มายา ไม่มีมานะ ปราศจากความโลภ ไม่ ยึดถือในสัตว์และสังขารว่าเป็นของเรา หา ความหวังมิได้ บรรเทาความโกรธแล้ว มี ตนดับความเร่าร่อนได้แล้ว ละมลทิน คือ ความโศกเสียได้ ย่อมควรเครื่องบูชา. พระตถาคตละตัณหาและทิฏฐิที่อยู่ ประจำใจได้แล้ว ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอะไรๆ ไม่ถือมั่นในโลกนี้หรือในโลกอื่น ย่อมควร เครื่องบูชา. พระตถาคตมีจิตตั้งมั่นแล้ว ข้าม โอฆะได้แล้วและได้รู้ธรรมด้วยทิฏฐิอย่างยิ่ง มีอาสวะสิ้นแล้ว ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีใน ที่สุด ย่อมควรเครื่องบูชา. ภวาสวะและวาจาหยาบคาย อันพระ- ตถาคตกำจัดได้แล้ว ทำให้สิ้นสูญ ไม่มีอยู่ พระตถาคตผู้ถึงเวท พ้นวิเศษแล้วในธรรม. ทั้งปวง ย่อมควรเครื่องบูชา. พระตถาคตผู้ล่วงกิเลสเครื่องข้อง ไม่มีธรรมเป็นเครื่องข้อง ไม่เป็นสัตว์ผู้มี มานะในเหล่าสัตว์ผู้มีมานะ กำหนดรู้ทุกข์ พร้อมทั้งไร่นาและที่ดินย่อมควรเครื่องบูชา. พระคถาคตไม่อาศัยตัณหา มีปกติ เห็นนิพาน ก้าวล่วงทิฏฐิที่จะพึงให้ผู้อื่นรู้ ไม่มีอารมณ์อะไรๆ ย่อมควรเครื่องบูชา. ธรรมทั้งที่เป็นภายในและภายนอก พระตถาคตแทงตลอดแล้ว กำจัดได้แล้ว ถึงความสาบสูญมิได้มี พระตถาคตนั้นเป็น ผู้สงบแล้ว น้อมไปในธรรม เป็นที่สิ้นอุปา- ทาน ย่อมควรเครื่องบูชา. พระตถาคตเห็นที่สุดแห่งควานสิ้นไป แห่งชาติ บรรเทาสังโยชน์อันเป็นทางแห่ง ราคะเสียได้ไม่มีส่วนเหลือ เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีโทษ ปราศจากมลทิน ไม่มีความใคร่ ย่อมควรเครื่องบูชา. พระตถาคตไม่พิจารณาเห็นตนโดย ความเป็นตน มีจิตตั้งมั่น ปฏิบัติตรง ดำรง ตนมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่มีกิเลสดุจหลักตอ ไม่มีความสงสัย ย่อมควรเครื่องบูชา. พระตถาคตไม่มีปัจจัยแห่งโมหะ อะไรๆ เห็นด้วยญาณในธรรมทั้งปวง ทรง ไว้ซึ่งสรีระมีในที่สุด และได้บรรลุสัมโพธิ- ญาณที่ยอดเยี่ยม อันเกษมความบริสุทธิ์ ของบุรุษ ย่อมมีด้วยเหตุเพียงเท่านี้ (พระ- ตถาคตย่อมควรเครื่องบูชา) . ฯลฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 11 มิ.ย. 2552

[๓๖๐] ลำดับนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ฉะนั้นข้าพระองค์นี้ขอถึงพระองค์ กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระองค์เถิด สุนทริกภารทวาช-พราหมณ์ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ ก็ท่านสุนทริกภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลายฉะนั้นแล. จบสุนทริกภารทวาชสูตรที่ ๔

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ