บัณฑิตผู้รู้แจ้งพึงได้เพราะการบำรุงมารดาบิดา [โสณนันทชาดก]
[เล่มที่ 62] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑- หน้าที่ 282
โสณนันทชาดก
ฯลฯ
"มารดาเมื่อหวังผลคือบุตร ย่อมนอบน้อมเทพดา ถามถึงฤกษ์ ฤดู และปีทั้งหลาย เมื่อมารดาอาบแล้ว ในเพราะฤดู สัตว์เกิดในครรภ์ย่อมก้าวลง ด้วยเหตุนั้น มารดา ท่านจึงเรียกว่า 'โทหฬินี (หญิงแพ้ท้อง) ' ด้วยเหตุนั้นท่านจึงเรียกว่า 'สุหทา (หญิงมีใจดี) ' มารดานั้น ถนอม (ครรภ์) ปีหนึ่งหรือหย่อนปีหนึ่งแล้ว จึงคลอด ด้วยเหตุนั้นๆ ท่านจึงเรียกว่า 'ชนยนฺตี ชเนตฺตี (ผู้ยังบุตรให้เกิด) ' มารดาปลอบโยนบุตรผู้ร้องไห้ด้วยน้ำนม ด้วยเพลงขับ และด้วยเครื่องกกคืออวัยวะ ด้วยเหตุนั้นท่านจึงเรียกว่า 'โตเสนฺตี (ผู้ยังบุตรให้ยินดีหรือ ปลอบโยน) ' แต่นั้น เมื่อลมและแดดแรงกล้ามารดาทำความหวั่นใจ คอยแลดูบุตรผู้ยังเป็นทารก ไม่เดียงสา ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า โปเสนฺตี (ผู้เลี้ยง) ทรัพย์ของมารดาอันใดมีอยู่ และทรัพย์ของบิดาอันใดมีอยู่ มารดาย่อมคุ้มครองทรัพย์แม้ทั้ง ๒ นั้นไว้เพื่อบุตรนั่น ด้วยหวังว่า เออก็ทรัพย์ทั้งหมดนี้ ควรเป็นของบุตรเรา' มารดาเมื่อให้บุตรสำเหนียกว่า 'อย่างนี้ลูก อย่างโน้นลูกเป็นต้น ย่อมเดือดร้อนด้วยประการฉะนี้
เมื่อบุตรถึงความเป็นหนุ่มแล้ว มารดารู้ว่า บุตรมัวเมาในภริยาของผู้อื่น ในเวลาค่ำคืน ไม่กลับมาในเวลาเย็น ย่อมเดือดร้อน ด้วยประการฉะนี้ บุตรผู้อันมารดาเลี้ยงดูมาแล้ว ด้วยความลำบากอย่างนี้ ไม่บำรุงมารดา บุตรนั้นชื่อว่าประพฤติผิดในมารดาย่อมเข้าถึงนรก บุตรผู้อันบิดาเลี้ยงมาแล้วด้วยความลำบากอย่างนี้ ไม่บำรุงบิดา บุตรนั้นชื่อว่าประพฤติผิดในบิดา ย่อมเข้าถึงนรก เราได้สดับมาว่าเพราะไม่บำรุงมารดา แม้ทรัพย์ที่เกิดแก่บุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาทรัพย์ย่อมฉิบหาย หรือบุตรนั้นย่อมเข้าถึงความยากแค้น เราได้สดับมาว่า เพราะไม่บำรุงบิดาแม้ทรัพย์ที่เกิดแก่บุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาทรัพย์ ย่อมฉิบหาย หรือบุตรนั้นย่อมเข้าถึงความยากแค้น ความรื่นเริง ความบันเทิง และความหัวเราะเล่นหัวกันทุกเมื่อ บัณฑิตผู้รู้แจ้งพึงได้เพราะการบำรุงมารดา ความรื่นเริง ความบันเทิง และความหัวเราะเล่นหัวกันทุกเมื่อ บัณฑิตผู้รู้แจ้งพึงได้เพราะการบำรุงบิดา สังคหวัตถุ ๔ ประการนี้ คือ ทาน การให้ ๑ ปิยวาจา เจรจาคำน่ารัก ๑ อัตถจริยา การประพฤติประโยชน์ ๑ สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายตามสมควรในที่นั้นๆ ๑
ฯลฯ