มังสจักษุ ปัญญาจักษุ
โปรดอ่านข้อความโดยตรง
[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 214
จักษุ มี ๒ อย่าง คือ มังสจักษุ ๑ ปัญญาจักษุ ๑ ในจักษุทั้ง ๒ นั้น ปัญญาจักษุมี ๕ อย่าง คือ พุทธจักษุ ๑ สมันตจักษุ ๑ ญาณจักษุ ๑ ทิพยจักษุ ๑ ธรรมจักษุ ๑ คำนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเมื่อตรวจดูสัตวโลก ได้เห็นแล้วแลด้วยพุทธจักษุ ดังนี้ ชื่อว่า พุทธจักษุ. คำนี้ว่า สัพพัญญุตญาณ เรียกว่า สมันตจักษุ ดังนี้ ชื่อว่า สมันตจักษุ. คำนี้ว่า ดวงตาเห็นธรรม เกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ดังนี้ชื่อว่า ญาณจักษุ. คำนี้ว่า ดูก่อนภิกษุ เราได้เห็นแล้วแล ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ดังนี้ ชื่อว่า ทิพยจักษุ. มรรคญาณเบื้องต่ำ ๓ นี้มาในคำว่า ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีไม่มีมลทิน เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้ ชื่อว่า ธรรมจักษุ.
ฝ่ายมังสจักษุ มี ๒ อย่าง คือ สสัมภารจักษุ ๑ ปสาทจักษุ ๑ ก้อนเนื้ออันใดตั้งอยู่ที่เบ้าตา พร้อมด้วยหนังหุ้มลูกตาภายนอกทั้ง ๒ ข้างเบื้องต่ำกำหนดด้วยกระดูกเบ้าตา เบื้องบนกำหนดด้วยกระดูกคิ้ว ผูกด้วยเส้นเอ็นอันออกจากท่ามกลางเบ้าตาโยงติดไปถึงสมองศีรษะ สสัมภารจักษุ ส่วนความใสอันใดเกี่ยวในสสัมภารจักษุนี้ เนื่องในสสัมภารจักษุนี้ อาศัยมหาภูตรูป ๔ มีอยู่ ความใสนี้ ชื่อว่า ปสาทจักษุ ในที่นี้ ท่านประสงค์เอา ปสาทจักษุ นี้ ปสาทจักษุนี้นั้น โดยประมาณก็สักเท่าศีรษะเล็นอาศัยธาตุทั้ง ๔ อาบเยื่อตาทั้ง ๗ ชั้น ดุจน้ำมันที่ราดลงที่ปุยนุ่น ๗ ชั้น อาบปุยนุ่นทุกชั้นอยู่ฉะนั้น ให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารตามสมควรแก่จิตในวิถีมีจักขุวิญญาณจิตเป็นต้น ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่ง เป็นที่เกิดขึ้นแห่งสรีรสัณฐาน ที่อยู่ตรงหน้าในท่ามกลางแววตาดำที่แวดล้อมด้วยมณฑลตาขาว แห่งสสัมภารจักษุนั้น ธรรมชาติใดย่อมเห็น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า จักษุ