ญาณจักษุ มังสจักษุ

 
JANYAPINPARD
วันที่  25 พ.ค. 2552
หมายเลข  12471
อ่าน  2,391

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 3

บทว่า จกฺขุ ได้แก่ จักษุ ๒ คือ ญาณจักษุ ๑ มังสจักษุ ๑. ในจักษุ ๒ อย่างนั้น ญาณจักษุมี ๕ อย่าง คือ พุทธจักษุ ธรรมจักษุ สมันตจักษุ ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ. ในจักษุ ๕ ย่างนั้น ที่ชื่อว่า พุทธจักษุ ได้แก่ อาสยานุสยญาณ และอินทริยปโรปริยัตตญาณ ซึ่งมาในพระบาลีว่าทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ. ที่ชี่อ ธรรมจักษุ ได้แก่ มรรคจิต ๓ ผลจิต ๓ ซึ่งมาในพระบาลีว่า วิรชํ วีตมลํ ธมฺมจกฺขุ อุทปาทิ ธรรมจักษุปราศจากกิเลสดุจธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้น. ที่ชื่อว่า สมันตจักษุ ได้แก่ สัพพัญญุตญาณ ที่มาในพระบาลีว่า ปาสาทมารุยฺห สมนฺตจกฺขุ สมันตจักษุขึ้นสู่ปราสาท ที่ชื่อว่า ทิพยจักษุ ได้แก่ ญาณที่เกิดขึ้นด้วยการขยายอาโลกกสิณ ที่มาในพระบาลีว่า ทิพฺเพน จกฺขุนา วิสุทฺเธน ด้วยทิพยจักษุอันหมดจด ที่ชื่อว่า ปัญญาจักษุ ได้แก่ ญาณในการกำหนดสัจจะ ๔ ซึ่งมาในพระบาลีว่า จกฺขุ อุทปาทิ จักษุ (ธรรมจักษุ) เกิดขึ้นแล้ว

แม้มังสจักษุ ก็มี ๒ อย่าง คือ สสัมภารจักษุ ๑ ปสาทจักษุ ๑. ใน ๒ อย่างนั้น ว่าโดยสังเขป ชิ้นเนื้ออันชั้นของตาล้อมไว้ในกระบอกตา มีองค์ประกอบ ๑๓ อย่าง คือ ธาตุ ๔ วรรณะ คันธะ รสะ โอชา สัมภวรูป ชีวิตรูป ภาวรูป จักษุปสาทรูป กายปสาทรูป แต่เมื่อว่าโดยพิสดาร รูป ๙ เหล่านี้ คือ ธาตุ ๔ วรรณะ คันธะ รสะ โอชาสัมภวรูป ว่าด้วยอำนาจสมุฏฐาน ๔ (๙ x ๔) เป็นรูป ๓๖ รูป ที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ๔ เหล่านี้ คือ ชีวิตรูป ๑ ภาวรูป ๑ จักษุปสาทรูป ๑ กายปสาทรูป ๑ จึงรวมเป็นสสัมภารรูป ๔๐ นี้ชื่อว่า สสัมภารจักษุ ก็ในสสัมภารจักษุรูปเหล่านี้ รูปใดที่สามารถเพื่ออันเห็นรูปที่ตั้งอยู่ในลูกตาที่เห็นได้แวดล้อมด้วยแววตาดำที่กำหนดไว้ด้วยลูกตาขาว รูปนี้ ชื่อว่า ปสาทจักษุ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 25 พ.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ม.ค. 2564

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 7 ม.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ