วิตก วิจาร [ธรรมสังคณี]
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 357
[๒๒] วิตก มีในสมัยนั้น เป็นไฉน
ความตรึก ความตรึกอย่างแรง ความดำริ ความที่จิตแนบอยู่ในอารมณ์ ความที่จิตแนบสนิทอยู่ในอารมณ์ ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ สัมมาสังกัปปะ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า วิตก มีในสมัยนั้น
[๒๓] วิจาร มีในสมัยนั้น เป็นไฉน
ความตรอง ความพิจารณา ความตามพิจารณา ความเข้าไปพิจารณาความที่จิตสืบต่ออารมณ์ ความที่จิตเพ่งอารมณ์ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า วิจาร มีในสมัยนั้น.
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 380
ในนิทเทสแห่งวิตก ธรรมที่ชื่อว่า ตักกะ เพราะตรึก บัณฑิตพึงทราบความเป็นไปแห่งธรรมที่ชื่อว่า ตักกะ นั้น ด้วยสามารถแห่งการตรึกอย่างนี้ว่าท่านตรึกถึงอะไร ท่านตรึกถึงหม้อ ตรึกถึงเกวียน ตรึกถึงโยชน์ ตรึกถึงครึ่งโยชน์หรือ นี้เป็นบทแสดงสภาวะของการตรึก.
ธรรมที่ชื่อว่า วิตก เพราะอำนาจแห่งการตรึกพิเศษ
คำว่า วิตก นี้เป็นชื่อของความตรึกที่มีกำลังมากกว่า
ชื่อว่า สังกัปปะ เพราะการกำหนดอย่างดี
เอกัคคจิต ชื่อว่า อัปปนา เพราะแนบแน่นในอารมณ์
บทที่สองทรงเพิ่มขึ้นด้วยอำนาจอุปสรรค อีกอย่างหนึ่ง อัปปนาที่มีกำลังกว่า ชื่อว่า พยัปปนา ธรรมชาติที่ชื่อว่า การยกจิตขึ้น เพราะยกจิต คือตั้งจิตไว้ในอารมณ์.
ธรรมที่ชื่อว่า สัมมาสังกัปปะ เพราะเป็นสังกัปปะ (ความดำริ) ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญถึงความเป็นกุศล เพราะเป็นความดำริตามความเป็นจริง และเป็นความดำรินำสัตว์ออกจากวัฏฏะ
ในนิทเทสแห่ง วิจาร ธรรมที่ชื่อว่า จาระ เพราะเที่ยวไปในอารมณ์บทนี้เป็นบทแสดงสภาวะของจาระนั้น ที่ชื่อว่า วิจาร เพราะเที่ยวไป พิเศษชื่อว่า อนุวิจาร เพราะเที่ยวตามไป ชื่อว่า อุปวิจาร เพราะเที่ยวไปใกล้
บทเหล่านั้นท่านเพิ่มมาด้วยอำนาจอุปสรรค ธรรมที่ชื่อว่า ความสืบต่อจิตเพราะการตั้งจิตสืบต่อไว้ในอารมณ์ ดุจการพาดลูกศรที่สายธนู ธรรมที่ชื่อว่าการเข้าไปเพ่ง เพราะตั้งอยู่ ดุจการเพ่งอารมณ์