สัลลัตถสูตร .. เวทนาเปรียบด้วยลูกศร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  25 พ.ค. 2552
หมายเลข  12485
อ่าน  3,690

... สนทนาธรรมที่ ...

>>> มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา <<<

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๓๐ พ.ค. ๒๕๕๒ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น. คือ

๖. สัลลัตถสูตร

(ว่าด้วยเวทนาเปรียบด้วยลูกศร)

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค (เล่มที่ ๒๙)

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค (เล่มที่ ๒๙)

๖. สัลลัตถสูตร

(ว่าด้วยเวทนาเปรียบด้วยลูกศร)

[๓๖๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง อริย-สาวกผู้ได้สดับแล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้างอทุกขมสุขเวทนาบ้าง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในชน ๒ จำพวกนั้น อะไรเป็นความแตกต่าง เป็นความแปลก เป็นเครื่องทำให้ต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับ กับ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ, ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นรากฐาน ฯลฯ * * , พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้วย่อมเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอกคร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงายเขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือเวทนาทางกายและเวทนาทางใจ.

[๓๗๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนู พึงยิง

บุรุษด้วยลูกศร ยิงซ้ำบุรุษนั้นด้วยลูกศรดอกที่ ๒ อีก ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศร ๒ อย่าง คือ ทางกายและทางใจ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอกคร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือเวทนาทางกายและเวทนาทางใจ อนึ่ง เขาเป็นผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมนอนตามเขาผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนา เขาเป็นผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ก็ยังเพลิดเพลินกามสุขอยู่ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมไม่รู้อุบายเครื่องสลัดออกจากทุกขเวทนานอกจากกามสุข และเมื่อเขาเพลิดเพลินกามสุขอยู่ ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมไม่รู้เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษและอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริงเมื่อเขาไม่รู้เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้นตามความเป็นจริง อวิชชานุสัยเพราะอทุกขม-สุขเวทนาย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมเสวยสุขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยสุขเวทนานั้น ย่อมเสวยทุกขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยทุกขเวทนานั้น และย่อมเสวยอทุกขมสุขเวทนา เป็นผู้ประ-กอบด้วยกิเลสเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ประกอบด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และ อุปายาส เรากล่าวว่า เป็นผู้ประกอบด้วยทุกข์.

[๓๗๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้สดับ อันทุกข-เวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ทุบอก คร่ำ-ครวญ ไม่ถึงความงมงาย เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียวไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ.

[๓๗๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนูพึงยิงบุรุษด้วยลูกศร ไม่ยิงซ้ำบุรุษนั้นด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรดอกเดียว

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไรไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความงมงาย เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ อนึ่ง เธอย่อมไม่มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกข-เวทนานั้น ย่อมไม่นอนตามเธอผู้ไม่มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนาเธอผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลินกามสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอริยสาวกผู้ได้สดับนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากทุกขเวทนา เว้นจากกามสุข เมื่อเธอไม่เพลิดเพลินกามสุข ราคานุสัย เพราะสุขเวทนาย่อมไม่นอนเนื่อง เธอย่อมรู้ชัดซึ่งเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง เมื่อเธอรู้ชัดซึ่งเหตุเกิด ความดับคุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้นตามความเป็นจริง อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนาย่อมไม่นอนเนื่อง ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยสุขเวทนานั้น ถ้าเสวยทุกขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ปราศจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เราย่อมกล่าวว่า เป็นผู้ปราศจากทุกข์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความแตกต่าง เป็นความแปลกกัน เป็นเครื่องกระทำให้ต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ.

[๓๗๓] อริยสาวกนั้น เป็นผู้มีปัญญา ทั้งเป็นพหูสูต ย่อมไม่เสวยทั้งสุขเวทนา ทั้งทุกขเวทนา, นี้แล เป็นความแปลกกัน ระหว่างธีรชนผู้ฉลาดกับปุถุชน,

ธรรมอันเป็นส่วนที่น่าปรารถนา ย่อมไม่ย่ำยีจิตของอริยสาวกนั้น ผู้มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว ผู้เป็นพหูสูต เห็นแจ้งโลกนี้และโลกหน้าอยู่, อริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถึงความขัดเคืองเพราะอนิฏฐา-รมณ์, อนึ่ง เวทนาทั้งสองนั้น เป็นอันตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะอริยสาวกนั้นไม่ยินดีและไม่ยินร้าย, อริยสาวกนั้น รู้ทางดำเนินอันปราศจากธุลีและ-หาความโศกมิได้ ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ รู้โดยชอบ.

จบ สัลลัตถสูตรที่ ๖

อรรถกถาสัลลัตถสูตรที่ ๖

พึงทราบวินิจฉัยในสัลลัตถสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้

บทว่า ตตฺร คือในชนสองจำพวกเหล่านั้น. บทว่า อนุเวธํวิชฺเฌยฺยุ ความว่า ลูกศรที่ยิงไปในส่วนที่ใกล้ปากแผลนั้น ระหว่างหนึ่งนิ้วหรือสองนิ้ว. เวทนาก็เสียดแทงบุรุษผู้ถูกยิงอย่างนี้แล้ว ย่อมมีกำลังกล้ากว่าเวทนาครั้งแรก. แม้โทมนัสเวทนา เมื่อเกิดขึ้นครั้งหลังย่อมมีกำลังกล้ากว่าเวทนาครั้งแรก ด้วยประการดังนี้แล. บทว่า ทุกฺ-ขาย เวทนาย นิสฺสรณํ ความว่า สมาธิ มรรคและผล เป็นเครื่องสลัดออกแม้ทุกขเวทนา เขาย่อมไม่รู้เครื่องสลัดออกนั้น ย่อมรู้ว่ากามสุขเท่านั้นเป็นเครื่องสลัดออก. บทว่า ตาสเวทนานํ ได้แก่ สุข-เวทนา ทุกขเวทนา เหล่านั้น. บทว่า สญฺญุตฺโต น เวทยติ ความว่า เขาเป็นผู้ประกอบด้วยกิเลส ย่อมเสวยเวทนานั้น มิใช่ เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยกิเลสเสวยเวทนานั้น. บทว่า สญฺญุตฺโต ทุกฺขสฺมา ได้แก่เป็นปัญจมีวิภัตติลงในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ อธิบายว่าประกอบด้วยทุกข์.

บทว่า สงฺขาตธมฺมสฺส ความว่า ผู้มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว คือผู้มีธรรมอันชั่งได้แล้ว. บทว่า พหุสฺสุตสฺส ความว่า เป็นพหูสูตในทางปริยัติ เป็นพหูสูตในทางปฏิเวธ. บทว่า สมฺมา ปชานาติภวสฺส ปารคู ความว่า ถึงแล้วซึ่งฝั่งแห่งภพ คือ นิพพาน ย่อมรู้ชัดซึ่งนิพพานนั้นแล โดยชอบ. อารัมมณานุสัย พระองค์ตรัสแล้ว ในพระสูตรแม้นี้. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า ก็บรรดาพระอริยสาวกทั้งหลายพระขีณาสพ มีหน้าที่ ในอารัมมณานุสัยนี้,แม้พระอนาคามี ก็ไม่ควรดังนี้.

จบ อรรถกถาสัลลัตถสูตรที่ ๖.

หมายเหตุ * * ข้อความที่ปรากฏในพระสูตรอื่น มีดังนี้ คือ ธรรมทั้งหลาย ของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเค้ามูล มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นแบบฉบับ มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัยสาธุ ขอเนื้อความแห่งภาษิตนั้น จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเจ้าภิกษุทั้งหลายฟังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจักทรงจำไว้ * *



  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Kanjana.B
วันที่ 25 พ.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 พ.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัลลัตถสูตร (ว่าด้วยเวทนาเปรียบด้วยลูกศร)

ข้อความโดยสรุป

พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงความแตกต่างระหว่างปุถุชนผู้ไม่ได้สดับกับอริยสาวกผู้ได้สดับ แก่ภิกษุทั้งหลาย ความว่า บุคคลทั้งสองจำพวก นั้น เสวยเวทนาเหมือนกันต่างกันตรงที่ว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เมื่อได้รับทุกขเวทนา (ทางกาย) ย่อมทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ มีความเศร้าโศก เสียใจ เปรียบเหมือนกับ เมื่อถูกยิงด้วยลูกศรดอกที่หนึ่งแล้ว ยังถูกยิงซ้ำอีกด้วยลูกศรดอกที่สอง (ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับยังไม่พ้นไปจากทุกข์) ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อได้รับทุกขเวทนา (ทางกาย) ย่อมมีเพียงทุกข์ทางกายเท่านั้น ไม่มีทุกข์ทางใจ ไม่เศร้าโศกเสียใจ เปรียบเหมือนกับ ผู้ถูกยิงด้วยลูกศรเพียงดอกเดียว ไม่ถูกยิงซ้ำอีก ด้วยลูกศรดอกที่สอง อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เป็นผู้ปราศจากทุกข์

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
orawan.c
วันที่ 26 พ.ค. 2552

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
suwit02
วันที่ 26 พ.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พุทธรักษา
วันที่ 26 พ.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
คุณ
วันที่ 26 พ.ค. 2552
สาธุค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
opanayigo
วันที่ 27 พ.ค. 2552

ขออนุญาตยกข้อความบางส่วน

"มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นแบบฉบับ มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัย"

............................

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
h_peijen
วันที่ 29 พ.ค. 2552

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
dron
วันที่ 29 พ.ค. 2552
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pornpaon
วันที่ 29 พ.ค. 2552

ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ