การอยู่เป็นคณะจึงมีการกระทบกัน [พรรณนาสุวัณณวลยคาถา]
[เล่มที่ 70] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้าที่ 334
พรรณนาสุวัณณวลยคาถา
คาถาว่า ทิสฺวา สุวณฺถเสฺส ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร
ได้ยินว่า พระราชาในนครพาราณสีองค์หนึ่ง ได้เสด็จเข้าบรรทม กลางวันในฤดูร้อน และนางวัณณทาสีในสำนักของพระราชานั้น กำลังบดจันทน์แดงอยู่ ที่แขนข้างหนึ่งของนางวัณณทาสีนั้น มีกำไลมือทองคำ อันหนึ่ง ที่แขนอีกข้างหนึ่งมีสองอัน. กำไลทอง ๒ อันนั้นกระทบกัน กำไลทองอันเดียวนอกนั้น ไม่กระทบ (อะไร)
พระราชาทรงเห็นดังนั้น จึงดำริว่า ในเพราะการอยู่เป็นคณะอย่างนี้แหละ จึงมีการกระทบกัน ในเพราะการอยู่โดดเดี่ยว จึงไม่มีการกระทบกัน แล้วทอดพระเนตรดู นางทาสีบ่อยๆ ก็สมัยนั้น พระเทวีประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทุกชนิด ยืนถวายการพัดอยู่ พระเทวีนั้นทรงดำริว่า พระราชาเห็นจะมีพระทัยปฏิพัทธ์นางวัณณทาสี จึงรับสั่งให้นางทาสีนั้นลุกขึ้น แล้วเริ่มบดด้วยพระองค์เอง. ก็ครั้งนั้น ที่พระพาหาทั้งสองของพระนางมีกำไลทองคำมิใช่น้อย กำไลทองเหล่านั้นกระทบกัน ทำให้เกิดเสียงดังลั่น พระราชาทรงเบื่อระอายิ่งนัก จึงทรงบรรทมโดยพระปรัศว์เบื้องขวาเท่านั้น ทรงเริ่มวิปัสสนาแล้วกระทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณ พระเทวีถือจันทน์ เข้าไปหาพระราชานั้นผู้บรรทมสบายด้วยสุขอันยอดเยี่ยม แล้วกราบทูลว่า
ข้าแต่มหาราช พระองค์จงทรงลูบไล้. พระราชานั้นตรัสว่า จงหลีกไปอย่าลูบไล้. พระเทวีกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันจะลูบไล้ให้แก่ใคร พระราชาตรัสว่า เราไม่ใช่พระราชา อำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังถ้อยคำปราศรัยของพระราชาและพระเทวีนั้นอย่างนั้น จึงพากันเข้าไปเฝ้า พระองค์ แม้อำมาตย์เหล่านั้นร้องทูลด้วยวาทะว่าพระราชา ก็ตรัสว่า
[เล่มที่ 70] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑- หน้าที่ 335
เราไม่ใช่พระราชาดอกพนาย. คำที่เหลือเช่นกับที่กล่าวแล้วในคาถาแรก นั่นแหละ ส่วนการพรรณนาคาถามีดังต่อไปนี้ :-
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิสฺวา แปลว่า ทรงแลดูแล้ว.
บทว่า สุวณฺณสฺส แปลว่า ทองคำ.
บาลีที่เหลือว่า วลยานิ. ก็อรรถะพร้อมทั้งอรรถะของบทที่เหลือมีเพียงเท่านี้.
บทว่า ปภสฺสรานิ แปลว่า มีแสงสุกปลั่งเป็นปกติ มีอธิบายว่า โชติช่วงอยู่ คำที่เหลือมีอรรถะของบทง่ายทั้งนั้น. ส่วนวาจาประกอบความมีดังต่อไปนี้ :- เราเห็นกำไลทองที่แขนจึงคิดอย่างนี้ว่า เมื่อมีการอยู่เป็นคณะ การกระทบกันย่อมมี เมื่ออยู่ผู้เดียว ก็ไม่มีการกระทบกัน จึงเริ่มวิปัสสนาได้บรรลุแล้ว. คำที่เหลือเข้าใจได้ง่ายทั้งนั้นแล.
จบพรรณนาสุวัณณวลยคาถา