พึงปรนนิบัติท่านทั้งสอง [มาตุโปสกสูตร]

 
opanayigo
วันที่  27 พ.ค. 2552
หมายเลข  12506
อ่าน  2,356

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒

สูตรที่ ๒

บุคคล ๒ พวก ที่กระทำตอบแทนไม่ได้ง่าย

[๒๗๘] ๓๒. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง ทั้งสองท่านคือใคร คือ มารดา ๑ บิดา ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึ่งประดับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอด ๑๐๐ ปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้งสองนั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำและการดัด และท่านทั้งสองนั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่า อันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง บุตรพึงสถาปนาบิดามารดาในราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์ ในแผ่นดินใหญ่อันมีรตนะ ๗ ประการ มากหลายนี้ การการทำกิจอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย

ส่วนบุตรคนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่า อันบุตรนั้นทำแล้วและทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดา.

จบสูตรที่ ๒

อรรถกถาสูตรที่ ๒

ในสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า มาตุ จ ปัตุ จ ได้แก่ มารดาผู้บังเกิดเกล้า ๑ บิดาผู้บังเกิดเกล้า ๑.

บทว่า เอเกน ภิกฺขเว อเสน มาตร ปริหเรยฺย ความว่า บุตรพึงปรนนิบัติมารดาแบกไว้บนจะงอยบ่าข้างหนึ่ง.

บทว่า เอเกน อเสน ปิตร ปริหเรยฺย ความว่า บุตรพึงปรนนิบัติบิดาแบกไว้บนจะงอยบ่าข้างหนึ่ง.

บทว่า วสฺสสตายุโก วสฺสสตาชีวี ความว่า มีอายุถึง ๑๐๐ ปี ทรงชีพอยู่ ๑๐๐ ปี. มีคำอธิบายว่า ถ้าบุตรคิดว่าจักตอบแทนคุณบิดามารดา กระวีกระวาดให้มารดานั่งบนจะงอยบ่าข้างขวา ให้บิดานั่งบนจะงอยบ่าข้างซ้าย มีอายุถึง ๑๐๐ ปี ทรงชีพแบกอยู่ ๑๐๐ ปี.

บทว่า โส จ เนส อุจฺฉาทนปริมทฺทนนฺหาปนสมฺพาหเนน ความว่า บุตรนั้นแลพึงบำรุงบิดามารดาผู้นั่งอยู่บนจะงอยบ่านั่นเอง ด้วยการอบกลิ่นให้ตัวหอม เพื่อบรรเทากลิ่นเหม็น ด้วยการนวดมือเท้า เพื่อบรรเทาเมื่อยขบเวลาหนาวให้อาบน้ำอุ่น เวลาร้อนให้อาบน้ำเย็น ด้วยการดัดคือ ดึงมือและเท้าเป็นต้น .

บทว่า เต จ ตตฺเถว ความว่า บิดามารดาทั้งสองก็นั่งถ่ายอุจจาระปัสสาวะอยู่บนนั้นแหละ คือบนจะงอยบ่าทั้งสองของบุตรนั้น.

บทว่า น เตฺวว ภิกฺขเว ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยอาการปรนนิบัติถึงเพียงนี้ จะเป็นอันบุตรนั้นได้ทำคุณหรือได้ตอบแทนคุณแก่บิดามารดาแล้ว หามิได้เลย.

บทว่า อิสฺสราธิปจฺเจ รชฺเช พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิทีเดียว.

บทว่า อาปาหกา แปลว่า เป็นผู้ให้เติบโต เป็นผู้ดูแล. เพราะบุตรทั้งหลาย บิดามารดาทำให้เติบโตและดูแลแล้ว.

บทว่า โปสกา ได้แก่ เป็นผู้เลี้ยงดู โดยให้มือเท้าเติบโต ให้ดื่มโลหิตในหทัย. เพราะบิดามารดาเลี้ยงบุตรอย่างดี ประคบประหงมด้วยข้าวน้ำเป็นต้น .

บทว่า อิมสฺส โลกสฺส ทสฺเสตาโร ความว่า ถ้าในวันที่บุตรเกิด บิดามารดาจะจับเท้าบุตรเหวี่ยงไปในป่าหรือในเหว บุตรก็จะไม่ได้เห็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ในโลกนี้ แต่เพราะท่านไม่ทำอย่างนี้ ฟูมฟักเลี้ยงดู บุตรจึงเห็นอิฏฐารมณ์ เละอนิฏฐารมณ์ ในโลกนี้ เพราะอาศัยบิดามารดา ฉะนั้น บิดามารดาจึงชื่อว่าเป็นผู้แสดงโลกนี้แก่บุตร.

บทว่า สมาทเปติ ได้แก่ ให้เธอถือ. ในพระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ผสมกันทั้งโลกิยะและโลกุตระ ภิกษุเช่นพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ พึงทราบว่า ชื่อว่ายังบิดามารดาให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมเหล่านั้น.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๒


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 28 พ.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
รู้จบลงที่รู้
วันที่ 9 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jarunee.A
วันที่ 7 ม.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ