นิเทศตัณหา

 
small
วันที่  3 มิ.ย. 2552
หมายเลข  12564
อ่าน  2,010

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 536

ว่าด้วยนิเทศตัณหา (บาลีข้อ ๒๖๓) พึงทราบวินิจฉัยนิเทศตัณหาเกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย ต่อไป ตันหา ๖ อย่าง พระองค์ทรงแสดง ไว้ในนิเทศนี้ โดยความต่างแห่งรูปตัณหา เป็นต้น ในตัณหา ๖ เหล่านั้น แต่ละตัณหา ตรัสไว้ ๓ อย่าง โดยอาการที่เป็นไป. ก็ในนิเทศตัณหาเกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัยนี้ มีอธิบายว่า ตัณหา ๖ อย่างเหล่านั้น พระองค์ทรงแสดงแล้วคือ ประกาศแล้ว ตรัสแล้ว ด้วยอำนาจแห่งชื่อโดยอารมณ์ว่า รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพ-ตัณหา ธรรมตัณหา ดังนี้ เหมือนบุตรที่เขาประกาศชื่อตามบิดาว่า เสฏฺฐิ-ปุตฺโต (บุตรเศรษฐี) พฺราหฺมณปุตฺโต (บุตรพราหมณ์) ฉะนั้น. บรรดาตัณหา ๖ เหล่านั้น พึงทราบอรรถแห่งคำโดยนัยนี้ว่า รูเป ตณฺหา รูปต- ณฺหา ตัณหาในรูป ชื่อว่า รูปตัณหา ดังนี้. ว่าด้วยตัณหา ๑๘ อย่าง ก็แล บรรดาตัณหาเหล่านั้น ตัณหาแต่ละอย่าง ตรัสไว้ ๓ อย่างนี้ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตามอาการที่เป็นไป

จริงอยู่ ในกาลใดรูปตัณหาแหละยินดีรูปารมณ์ที่มาสู่คลองจักษุด้วยอำนาจความยินดีในกามเป็นไปในกาลนั้นชื่อว่า กามตัณหา ในกาลใดรูปตัณหาเป็นไปพร้อมกับทิฏฐิที่เป็นไปว่า รูปารมณ์นั้นนั่นแหละเที่ยง ยั่งยืน ดังนี้ ในกาลนั้นชื่อว่าภวตัณหาเพราะราคะเกิดร่วมกับสัสสตทิฏฐิ ตรัสเรียกว่า ภวตัณหา แต่ในกาลใด รูปตัณหานั้นเป็นพร้อมกับอุจเฉททิฏฐิที่เป็นไปว่า รูปารมณ์นั้นนั่นแหละขาดสูญ ย่อมพินาศ ดังนี้ ในกาลนั้น ชื่อว่า วิภวตัณหา เพราะราคะเกิดร่วมกับอุจเฉททิฏฐิ ตรัสเรียกว่า วิภวตัณหา. แม้ในสัททตัณหา เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ตัณหาเหล่านี้ จึงรวมเป็น ๑๘.

ตัณหาเหล่านั้นในรูปภายในเป็นต้นมี ๑๘ อย่าง ในภายนอกมี ๑๘ อย่าง เพราะฉะนั้น จึงเป็น ตัณหา ๓๖ อย่าง ตัณหาเหล่านั้นเป็นอดีต ๓๖ อนาคต ๓๖ เป็นปัจจุบัน ๓๖ รวมตัณหา ๑๐๘ ด้วยประการฉะนี้. ก็ตัณหา ๑๐๘ เหล่านั้น เมื่อย่อลง พึงทราบว่าเป็น ตัณหา ๖ ด้วยสามารถแห่งอารมณ์มีรูปเป็นต้น หรือเป็นตัณหา ๓ เท่านั้น ด้วยอำนาจกามตัณหาเป็นต้น.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 9 ส.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ