ธรรมสำหรับละถีนมิทธะ
[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 322
เหตุละถีนมิทธะ
แต่ถีนมิทธะนั้น จะละได้ด้วยโยนิโสมนสิการในธรรมทั้งหลาย มีอารภธาตุเป็นต้น. ความเพียรเริ่มแรก ชื่อว่าอารภธาตุ. ความเพียรที่มีกำลังกว่าอารภธาตุนั้น เพราะออกไปพ้นจากความเกียจคร้านแล้ว ชื่อว่านิกกมธาตุ ความเพียรที่มีกำลังยิ่งกว่านิกกมธาตุ แม้นั้น เพราะล่วงฐานอื่นๆ ชื่อว่าปรักกมธาตุ (ก้าวไปข้างหน้า. บากบั่น) . เมื่อภิกษุทำโยนิโสมนสิการให้เป็นไปมากๆ ในความเพียร ๓ ประเภทนี้ ย่อมละถีนมิทธะได้. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธาตุคือความเริ่ม ความเพียร ธาตุคือความออกพ้นไปจากความเกียจคร้าน ธาตุคือความก้าวไปข้างหน้ามีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธาตุเหล่านั้น นี้เป็นอาหารเพื่อความไม่เกิดแห่งถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อละถีนมิทธะที่เกิดแล้ว ดังนี้.
ธรรมสำหรับละถีนมิทธะ
อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละถีนมิทธะ คือ
๑. การกำหนดนิมิตในโภชนะส่วนเกิน
๒. การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ
๓. การใส่ใจถึงอาโลกสัญญา (คือความสำคัญว่าสว่างๆ )
๔. การอยู่กลางแจ้ง
๕. ความมีกัลยาณมิตร
๖. การเจรจาแต่เรื่องที่เป็นที่สบาย