ลืมโกรธอีกไหมค่ะ ??

 
คุณย่า
วันที่  13 มิ.ย. 2552
หมายเลข  12649
อ่าน  1,400

สนทนาธรรมที่มูลนิธิ
ปฏิบัติธรรม
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ม.ค. ๒๕๕๒

อ.อรรณพ ที่..ท่านอาจารย์ท่านพูดก็ชัดเจน ตรงประเด็น แต่ท่านจะให้เราหยุดคิด เพื่อให้เห็นถึงความเป็นตัวตน ซึ่งมีเยอะ ซึ่งตอนนี้ก็เหมือนเรา พยายามที่จะเข้าใจความไม่มีเรา แต่ดูเหมือนจะพยายามเข้าใจความไม่มีเรา ด้วยความเป็นเรา เพราะว่าเริ่มต้นก็เริ่มต้นด้วยความเป็นเรา ที่จะฟังเรื่องความเป็นอนัตตาในเมื่อมันเป็นอัตตา เริ่มต้นด้วยตัวตนแล้วจะนำไปสู่ความไม่มีตัวตน มันคงลำบาก เพราะฉะนั้น จะยากก็อยู่ที่เริ่มต้นนี่ละครับ ท่านอาจารย์ท่านพูดบ่อยฟังธรรมเพื่อเข้าใจว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา แต่การที่จะแทรกซึมผ่านกำแพงตัวตนนี้ยาก เพราะความเป็นเราคอยครอบคลุมไว้โดยตลอด เพื่อจะไม่ให้เข้าใจความไม่ใช่เรา

เนื่อง..จากสนทนากันเรื่องโทสะ ผมก็เลยคิดถึง ลักษณะของโทสะก็อยากจะกราบเรียนท่านอาจารย์ เกี่ยวกับลักษณะของ โทสะ ซึ่งโทสะเป็นสภาพที่เดือดร้อนกระทบกระทั่ง และโดยเฉพาะเป็นสภาพที่ไม่ติดข้อง แต่เป็นสภาพที่เดือดร้อนไม่พอใจต่างๆ แต่ท่านก็แสดงว่า โทสะเป็นเครื่องผูก เมื่อเช้าท่านอาจารย์ก็ได้พูดถึง การผูกโกรธ ซึ่งพระองค์ทรงแสดงว่า โทสะเป็นเครื่องผูกเป็นคันถะอย่างหนึ่ง แต่ในขณะที่โทสะเกิด โทสะก็ไม่ได้มีลักษณะติดข้องเลยนี่ครับ เพื่อให้เข้าใจลักษณะของโทสะ ซึ่งละเอียดขึ้น ก็ขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่าทำไม โทสะจึงเป็นเครื่องผูกทั้งๆ ที่โทสะเกิด ก็ไม่ใช่สภาพที่ติดข้อง แต่เป็นสภาพที่ไม่พอใจ ไม่อยากได้ ไม่อยากให้มี อารมณ์นั้นๆ แต่โทสะก็เป็นเครื่องผูก หรือที่เราเรียกกันว่า ผูกโกรธ

ท่านอาจารย์ โกรธ..แล้วก็หมดไงค่ะ ดับไปแล้วก็จริงค่ะ แต่ก็ยังจำได้ ไม่อยากแต่โกรธเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย ผูกโกรธ เพราะไม่ลืม ถ้าเพียงโกรธหมดเลย ลืมไปแล้ว จะโกรธอีกไหมค่ะ ไม่ครับ แต่ความโกรธ ก็มีหลายระดับ โดยมากจะไปคิดถึง ความโกรธมากๆ ความขุ่นใจมากๆ หรือที่ใช้คำว่า พยาบาท ไม่ให้อภัย แต่ความจริง ถ้าคิดถึงธาตุชนิดหนึ่ง เหมือนไฟกองนิดเดียว สามารถจะทำให้เกิดไฟกองใหญ่ ไฟไหม้ป่าราบไปได้เลย แต่เวลาที่ขุ่นใจเพียงเล็กน้อยนี้ เกิดขึ้นนั่นก็คือ ลักษณะของความโกรธ ใช้คำอะไรก็ได้

เพราะฉะนั้น..ความโกรธมีลักษณะอย่างเดียวคือ ขุ่นเคือง ไม่แช่มชื่นไม่สบายใจ ความรู้สึกขณะนั้นล่ะค่ะ เป็นโทมนัสเวทนา มีปัจจัยก็เกิดขึ้นแล้วมาจากไหน มาจากการที่เราต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว ไม่ได้สิ่งนั้น โดยเฉพาะสิ่งที่คนที่อยู่ในภูมิที่มี รูป เพราะว่ามีตา จึงเห็นสิ่งที่ปรากฏ ก็ต้องติดในสิ่งที่ปรากฏ มีโสตประสาท เกิดมาในภูมิที่มีเสียง มีรูปไม่ปราศจากรูปเลย นอกจากอรูปพรหมภูมิที่จะไม่มีรูป ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะไม่มีรูปใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่นามธรรมเท่านั้น

เพราะฉะนั้น..ตราบใดที่ยังเป็นภูมิ ของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตาสามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ ทางตาเท่านั้น ไม่กระทบกับเสียง กับกลิ่นเพราะฉะนั้น ในขณะนี้เอง ที่กำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น มีความติดข้องต้องการมากมาย เริ่มจากพอใจ แล้วทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร เพียงแค่ปรากฎลองคิดดูนะค่ะ นามธาตุ คือจิต เป็นธาตุรู้ ขณะนั้นถ้าจิต หรือปัญญากำลังรู้ในลักษณะของธาตุรู้ จะไม่รู้ในลักษณะของรูป ถูกต้องไหมค่ะ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นไม่มีรูป ซึ่งเป็นที่ตั้ง ที่ต้องการของจิตในขณะนั้น เพราะว่าจิตเป็นธาตุรู้ มืดสนิทจริงๆ เพราะว่าถ้าหลับตาแล้วเราบอกว่ามืด ขณะนั้นก็ยังคงมีความสามารถ ที่จะบอกความต่างของความสว่างกับความมืดได้ แต่ธาตุซึ่งไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น สักนิดเดียว เพราะฉะนั้น ธาตุนั้นจะมืดสักแค่ไหนถ้าธาตุนั้นปรากฏ โดยเป็นธาตุรู้ รูปปรากฎไม่ได้ จะเห็นได้ว่าในความมืดสนิทธาตุรู้เกิดขึ้น ให้เห็นว่าเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้รู้ในอารมณ์ที่จิตนั้นกำลังรู้ แต่กำลังรู้ในลักษณะที่เป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่มีแสงสว่างอะไรเลย ในความมืดสนิท สามารถที่จะคิดนึกได้ สามารถที่จะเป็นธาตุที่อารมณ์นั้นไม่ปรากฏ

เพราะฉะนั้น..ก็จะทำให้เข้าใจถึงปฏิสนธิจิต ภวังค์จิตได้ว่าขณะนั้นอารมณ์ไม่ได้ปรากฏ แต่ว่ามีธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วๆ ก็เป็นธาตุรู้ด้วย เวลาถึงการที่จะมีการเห็น หมายความว่ากิเลส ทำให้จักขุประสาทรูปเกิด เพราะว่าทั่วตัวนี้จะมีรูป ซึ่งเกิดจากกิเลสบ้าง บางกลุ่มบางกลาป บางกลุ่มก็เกิดจากจิตเกิดจากอุตุ ความเย็น ความร้อน บางกลุ่มก็เกิดจากอาหาร แต่ว่ากิเลสเป็นปัจจัย ที่จะทำให้ จักขุปสาทรูปเกิด ซึ่งเป็นรูปที่สามารถกระทบ สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นในขณะนี้ เห็นไหมค่ะ ใครไปทำได้ นอกจากกิเลส และเวลาที่กิเลส ทำให้จักขุประสาทรูปๆ เกิด ก็ต้องดับด้วย มีอายุแค่ ๑๗ ขณะ ไม่ว่าจะเกิดจากสมุฏฐานใดก็ตาม รูปที่เป็นสภาวรูปทั้งหมด ก็จะมีอายุเพียงแค่ ๑๗ ขณะ แล้วก็ดับ โดยไม่เห็นได้ไหมค่ะ กัมชรูป ทำให้จักขุประสาทรูป โสตประสาทรูป ฆานประสาทรูป ชิวหาประสาทรูป กายประสาทรูป เกิดแล้วขณะที่ กิเลสเป็นปัจจัย ทำให้จักขุประสาทรูปเกิด จิตไม่เกิดขึ้นเห็นได้ไหม ได้แน่นอนค่ะ เพราะฉะนั้น ในขณะที่นอนหลับสนิท จักขุประสาทรูปเหล่านี้ก็เกิดดับโดยที่ไม่ได้เห็น จิตเห็นไม่เกิด จิตได้ยินไม่ได้เกิด จิตได้กลิ่นก็ไม่เกิด แต่กิเลสก็ทำให้รูปเหล่านี้เกิด โดยที่เมื่อเกิดแล้วก็มีอายุ ๑๗ ขณะ เพราะว่าเวลาที่ขณะที่เห็นเกิดขึ้น ให้ทราบการอุปัตติของธรรม การเกิดขึ้นของธรรมว่า นอกจากจะมี จักขุประสาทรูปเกิดเพราะกิเลส ก็ยังต้องมีสิ่งที่ สามารถกระทบจักขุประสาท เป็นปัจจัยให้จิตเห็น อุปัตติเกิดขึ้น โดยกิเลสเป็นปัจจัยที่จะทำให้ ถึงกาลสุกงอมที่จะต้องเห็น ไม่เห็นไม่ได้ เหมือนกับขณะที่ได้ยินเดี๋ยวนี้ขณะนี้นะค่ะ เป็นกาลที่ กิเลสหนึ่งสุกงอม พร้อมที่โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียง ทั้งๆ ที่จักขุประสาท ก็มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แล้วรูปที่กระทบจักขุประสาท ก็มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ สั้นแค่ไหน

เพราะฉะนั้น..เป็นปัจจัยที่ถึงวาระที่ กิเลสจะทำให้จิตเห็นเกิด จึงเกิดจิตเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด หรืออะไรก็ตาม เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดเห็นแล้ว จะไม่อยากเห็นมีไหมค่ะ เห็นแล้วไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ตอนที่เกิดใหม่ๆ อยู่ในครรภ์นี้ ไม่เห็นหรอก แต่เวลาที่คลอดออกมา มีจักขุปสาท ถ้าหลับ หรือเป็นภวังค์ก็ไม่เห็น แต่เมื่อถึงกาล ที่เห็นเกิด จะไม่ชอบสิ่งที่เห็นหรือมีสิ่งหนึ่งเกิดแล้วค่ะให้เห็นว่าเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทั้งหมดนี้ เป็นที่ตั้งของความพอใจ มีโลภะ มีความไม่รู้เกิดขึ้นก่อน ที่จะถึง โทสะ ก็จะต้องมีการเห็น การได้ยิน ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เช่น เสียง ไม่มีเสียง ไม่ได้ยินเสียง ยังไม่ชอบเสียง ที่ไม่ได้ยินแน่นอน ถูกต้องไหมค่ะ เพราะยังไม่ได้ยิน แต่พอเสียงปรากฏแล้ว ได้ยินแล้วนี่ ชอบไหม ได้ยินก็ชอบที่จะได้ยิน แม้เสียงที่เพียงปรากฎให้ได้ยินก็ชอบแล้ว คิดดู ความไม่รู้ สภาพธรรมที่เป็นสังสารวัฏฏ์ จะมากมายสักแค่ไหน

เพราะฉะนั้น..ชอบทุกอย่าง ชอบสิ่งที่ปรากฏทางตา ชอบเสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นชอบไหมค่ะ ชอบหรือไม่ชอบค่ะ ก่อนที่จะรู้ความจริงทุกคนก็สะสมการชอบกลิ่นมาแล้ว แล้วแต่ว่าใคร จะชอบมากหรือชอบน้อย จะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย อารัมมณูปนิสสยปัจจัย อย่างที่กล่าวถึงเมื่อเช้านี้ก็แล้วแต่นะค่ะ ว่าใครจะพอใจในกลิ่นมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าคนที่มีปัญญามากพอนี้ ก็จะเห็นความไม่มีสาระของกลิ่น แต่สาระทางตายังมีที่จะต้องใช้ จะต้องเห็น จะต้องรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด สาระทางหู ก็คือว่าสามารถจะได้ยินได้ฟังธรรม มีการพิจารณา มีการเข้าใจได้ ไม่ใช่เพียงแต่ได้ยิน แล้วก็ติดข้องเพียงเท่านั้น แต่ก็ยังมีปัจจัยที สภาพธรรมที่เป็นฝ่ายโสภณ ก็จะเกิดได้ด้วยจากการได้ยิน

เพราะฉะนั้น..ก็จะเห็นได้นะค่ะ ว่าเมื่อมีสิ่งต่างๆ เหล่านี้แล้ว ปกติธรรมดาของความไม่รู้นี้ ก็จะต้องติดข้องในเห็น ในสิ่งที่ปรากฏทางตา ในได้ยิน ในเสียง ในกลิ่น และในสภาพคือจิตที่รู้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส รับประทานอาหาร มีใครไม่ชอบรสบ้าง รสเกิดแล้วปรากฏแล้ว ไม่ชอบหรือค่ะ? ชอบเกิดแล้ว เท่านั้นเองค่ะ แล้วก็ลิ้มรสนั้น แล้วก็ชอบในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นไม่พ้นจาก ความติดข้อง ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

เป็น “กามราคานุสัย” เพราะ คำว่า “กาม” หมายถึง สิ่งที่น่ายินดีพอใจ เป็น “วัตถุกาม” สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้งหมดติดข้องอยู่อย่างนี้ ไม่ไปไหนเลย เมื่อกี้รับประทานอาหาร เย็นนี้ ก็ เป็นอย่างนี้พรุ่งนี้ ก็ เป็นอย่างนี้ ก็เป็นอย่างนี้ในสังสารวัฏฏ์ ทั้งหมดเลย ก็เป็นความติดข้อง ถ้าไม่ได้สิ่งที่ต้องการ นี่แหละค่ะ เป็นปัจจัยให้เกิดความขุ่นใจ “โทสะ”

เพราะฉะนั้น..ก็จะรู้ความเป็นมา เป็นไปของจิต แต่ละประเภท ซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ขณะนี้เป็นอย่างนี้ เป็นจิต ขณะนี้เป็นจิต อย่าลืมค่ะ เอาคน เอาชื่อ เอาอะไรออกหมด มีจิต แล้วเรากำลังฟังเรื่องจิต เพื่อที่จะรู้จักจิต เข้าใจจิตตามความเป็นจริง “จิต” ก็เป็นเพียงธาตุหรือธรรมซึ่งเกิดตามเหตุตามปัจจัย

แล้ว..คุณอรรณพ จะให้ไม่พอใจ สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ไหม ไม่ได้ แล้วเมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้อง ก็ต้องขุ่นเคืองใจ

อ.อรรณพ ก็ต้อง..กราบขอบพระคุณ ท่านอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าท่านอาจารย์ตอบลงไปจนถึง สมุทัยของความโกรธ คือ โลภะ ตั้งแต่มีการเห็น ได้ยิน...กระทบสัมผัส ความเป็นไปของจิตต่างๆ และความเป็นไปของ ความยินดีพอใจ จนถึงความเป็นสมุทัยที่แท้จริง ที่จะทำให้เกิดทุกข์ทั้งมวล และรวมทั้ง โทสะ ด้วย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
wannee.s
วันที่ 13 มิ.ย. 2552

ถ้าละธรรม 3 ประการได้ คือโลภะ โทสะ โมหะ ก็ละ ชาติ ชรา มรณะได้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pornpaon
วันที่ 13 มิ.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ทศพล.com
วันที่ 13 มิ.ย. 2552

ยังไม่ลืมครับผม เพราะว่ายังไม่ใช่พระอนาคามี แต่ว่าบ้างครั้งได้ฟังพระธรรมที่ท่านอาจารย์สอน ถ้าหากว่านึกถึงได้ ก็พอทุเลาได้บ้าง อดทนต่อสิ่งที่หน้าพอใจมากขึ้น และ อดทนต่อสิ่งที่ไม่หน้าพอใจมากขึ้น การฟังการศึกษาที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์แสดงนั้น ทำให้เรามีเหตุผลมากขึ้นบ้าง

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 13 มิ.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ