ธรรมที่ชื่อว่า ปัญญา [ธรรมสังคณี]

 
panasda
วันที่  28 มิ.ย. 2552
หมายเลข  12775
อ่าน  2,287

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 387

ในนิทเทสแห่งปัญญินทรีย์ ธรรมที่ชื่อว่า ปัญญา เพราะอรรถว่า การประกาศให้รู้คือ กระทำเนื้อความนั้นๆ ให้แจ่มแจ้ง อีกอย่างหนึ่งชื่อว่า ปัญญา เพราะย่อมรู้ธรรมทั้งหลายโดยประการต่างๆ มีความไม่เที่ยง เป็นต้นนั้น คำนี้เป็นบทแสดงสภาวะของปัญญานั้น อาการที่รู้ทั่ว ชื่อว่า ปชานนาปัญญา ชื่อว่า วิจัย เพราะค้นหาธรรม มีความไม่เที่ยงเป็นต้น คำว่า ปวิจัย นี้ท่านเพิ่มอุปสรรคเข้ามา

ปัญญา ชื่อว่า ธรรมวิจัยเพราะค้นหาธรรม คือ สัจจะ ๔ ธรรมที่ชื่อว่า สัลลักขณาด้วยอำนาจการกำหนดอนิจจลักษณะเป็นต้นได้ สัลลักขณานั่นแหละ ตรัสเรียกว่า อุปลักขณา ปัจจุปลักขณา โดยความต่างกันแห่งอุปสรรค ความเป็นแห่งบัณฑิต ชื่อว่าปัณฑิจจะ ความเป็นแห่งบุคคลผู้ฉลาด ชื่อว่า โกสัลละ ความเป็นแห่งธรรมที่ละเอียดชื่อว่า เนปุญญะ ความเป็นแห่งการทำให้แจ้งซึ่งความไม่เที่ยงเป็นต้นชื่อว่า เวภัพยา

ปัญญาที่ชื่อว่า จินตา ด้วยสามารถแห่งการคิดความไม่เที่ยง เป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า จินตา เพราะเกิดขึ้นแก่ผู้ใด ย่อมยังบุคคลนั้นให้คิดอนิจจลักษณะ เป็นต้น

ที่ชื่อว่า อุปปริกขา เพราะใคร่ครวญอนิจจลักษณะ เป็นต้น

คำว่า ภูริ เป็นชื่อของแผ่นดิน จริงอยู่ปัญญานี้เรียกว่า ภูรี ดุจแผ่นดิน เพราะอรรถว่าตั้งมั่นและกว้างขวาง เพราะเหตุนั้นจึงตรัสเรียกแผ่นดินว่า ภูริ บุคคลชื่อว่า มีปัญญาดังแผ่นดิน เพราะประกอบด้วยปัญญาอันกว้างขวางไพบูลย์เสมอด้วยแผ่นดินนั้น อีกอย่างหนึ่งคำว่า ภูริ นี้เป็นชื่อของปัญญา ปัญญาชื่อว่า ภูริ เพราะย่อมยินดีในอรรถะที่เป็นจริง

ปัญญาที่ชื่อว่า เมธา เพราะทำลายเบียดเบียนกิเลสเหมือนสายฟ้าผ่าภูเขาหิน อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เมธา เพราะเรียนและทรงจำได้เร็วพลัน

ที่ชื่อว่า ปริณายิกา เพราะเกิดแก่ผู้ใด ย่อมนำผู้นั้นไปในการปฏิบัติประโยชน์เกื้อกูล และในการแทงตลอดลักษณะตามความเป็นจริงในสัมปยุตธรรม

ปัญญาที่ชื่อว่า วิปัสสนา เพราะย่อมเห็นแจ้งธรรมทั้งหลายด้วยสามารถแห่งอนิจจลักษณะเป็นต้น

ที่ชื่อว่า สัมปชัญญะ เพราะย่อมรู้อนิจจลักษณะเป็นต้นโดยประการต่างๆ โดยชอบ ที่ชื่อว่า ปโตทะ (ปฏัก) เพราะแทงจิตที่คดโกงวิ่งไปผิดทางให้ขึ้นสู่ทาง เหมือนปฏักแทงม้าสินธพที่วิ่งไปผิดทางให้ไปถูกทาง ปฏักคือปัญญานั่นแหละชื่อว่า ปัญญา คือ ปฏัก

ที่ชื่อว่า อินทรีย์ เพราะครองความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการเห็น อินทรีย์ คือปัญญา เรียกว่า ปัญญินทรีย์ ปัญญานั่นเองเป็นอินทรีย์ก็ชื่อว่า ปัญญินทรีย์

ที่ชื่อว่า ปัญญาพละ เพราะไม่หวั่นไหวในเพราะอวิชชา

ศาสตรา คือ ปัญญานั่นแหละชื่อว่า ปัญญาสัตถะ เพราะอรรถว่าตัดกิเลส

ปราสาท คือ ปัญญานั่นแหละชื่อว่า ปัญญาปาสาทะ เพราะอรรถว่าสูงยิ่ง

แสงสว่างคือ ปัญญาเทียวชื่อว่า ปัญญาอาโลกะ เพราะอรรถว่าการส่องแสง โอภาสคือปัญญาเทียวชื่อว่า ปัญญาโอภาสะ เพราะอรรถว่าสว่าง

ประทีป คือ ปัญญาชื่อว่า ปัญญาปัชโชตะ เพราะอรรถว่าโชติช่วง จริงอยู่ บุคคลผู้มีปัญญานั่งแล้วโดยบัลลังก์เดียว หมื่นโลกธาตุก็แสงสว่างเป็นอันเดียวกัน มีโอภาสเป็นอันเดียวกัน มีการโชติช่วงเป็นอันเดียวกัน ฯลฯ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 29 มิ.ย. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
rojanasak
วันที่ 17 ก.พ. 2553

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
orawan.c
วันที่ 30 มี.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 18 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 7 ม.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ