ดับการปรุงแต่งอย่างไรค่ะ

 
Niranya
วันที่  5 มิ.ย. 2549
หมายเลข  1293
อ่าน  1,670

ขอเรียนถามว่า ธรรมะข้อใดที่ควรน้อมเข้ามาเพื่อการพิจารณา เพื่อให้เกิดปัญญาในการดับการปรุงแต่งเมื่อกระทบสิ่งต่างๆ ทางอายตนะทั้ง 6 เคยลองนึกว่า เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ฯลฯ, ทำเฉยๆ แต่รู้สึกว่ามันขาดปัญญา มันเป็นการปล่อยเลยตามเลย. คิดว่าตนคงทำไม่ถูกอะไรสักอย่าง. ขอความกรุณาอนุเคราะห์ด้วยค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 6 มิ.ย. 2549

การจะดับการปรุงแต่งของจิตที่เป็นกุศลและอกุศลได้นั้นต้องอบรมเจริญปัญญาจนถึงความเป็นอรหันต์ จะอาศัยเพียงธรรมะข้อใดข้อหนึ่งมาพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญาดับกิเลส เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ต้องมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์และพระอริยสาวกที่ท่านต้องอบรมบารมี นานแสนนานเพื่อการละกิเลส คนสมัยนี้จะไม่ต้องอบรมปัญญาและเพียงทำตามธรรมะข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำที่ต่างกับพระอริยะที่ท่านต้องอบรมเจริญปัญญาฉะนั้น ไม่มีวิธีหรือหนทางอย่างอื่นที่จะดับกิเลสได้ นอกจากการอบรมอริยมรรคที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้เท่านั้น โปรดใจเย็นๆ ค่อยศึกษาพระธรรมคำสอนให้เข้าใจถูก และค่อยระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วจะมีปัญญาเพิ่มขึ้นเมื่อปัญญาเกิดขึ้นปัญญาย่อมทำกิจของปัญญา ไม่ใช่ตัวเราไปทำ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
shumporn.t
วันที่ 8 มิ.ย. 2549

ปัญญาเป็นสิ่งสำคัญในการดับกิเลส การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้ต้องรู้เหตุเกิดของปัญญา ปัญญามี ๓ ขั้น คือ ๑. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟังและการศึกษา ๒. จินตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิดพิจารณา ๓. ภาวนมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการปฏิบัตหนทางเดียวที่จะไปถึงได้ คือ การอบรมเจริญ " สติปัฏฐาน " สติที่ระลึกตรงสภาวะของธรรมะ ปัญญาเข้าใจความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จะเริ่มเข้าใจสภาพธรรมมากขึ้น และรู้จักกิเลสมากขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ฟาง
วันที่ 11 มิ.ย. 2549

ผมฝึกด้วยการสังเกตอารมณ์หลังการกระทบทางสฬายตนะ หากเป็นอกุศลก็จะระงับการปรุงแต่งด้วยใช้สติกำหนดจิตว่า ไม่ปรุง ไม่ปรุง แต่หากเป็นกุศลก็ปรุงต่อด้วยใช้สติประคองปัญญาไปในการสังเกตสิ่งที่มากระทบ จนกว่าจิตจะละไปพิจารณาสิ่งอื่นต่อไป ผมทำผิดหรืออ้อมค้อมประการใดหรือไม่ ขอช่วยชี้แนะด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
study
วันที่ 12 มิ.ย. 2549

อกุศลจะระงับด้วยกุศล ไม่ใช่ด้วยอกุศลและความไม่รู้ ขณะที่เป็นอกุศลขณะนั้นปรุงแต่งแล้ว แม้จะกำหนดว่า ไม่ปรุง สภาพของธรรมะก็ปรุงแต่ง ตามเหตุที่เกิดอยู่แล้ว

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
saowanee.n
วันที่ 20 มิ.ย. 2549

"เห็นสักแต่ว่าเห็น" เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ท่านพระพาหิยะ ด้วยพระสัพพัญญุตญาณทรงเห็นว่าท่านพระพาหิยะ พร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แม้เพียงข้อความสั้นๆ ซึ่งก็เป็นไปตามการอบรมสั่งสมมาในอดีตนานนับชาติไม่ถ้วน เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมจึงไม่ควรรีบร้อนนะคะ ให้เหมือนกับการจับด้ามมีดค่ะ

สภาพธรรมทั้งหมดที่ปรากฎทางปัญจทวาร (ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ) เป็นปรมัตถ-ธรรมล้วนๆ ถ้าสติปัฏฐานเกิดก็ระลึกรู้สภาพธรรมนั้นๆ ตรงตามความเป็นจริง โดยที่ไม่ต้องคิดนึก การคิดนึกเป็นนามธรรมที่ปรากฎทางมโนทวารเท่านั้น เพราะฉะนั้นข้อความที่ว่า "เห็นสักแต่ว่าเห็น..." จึงเป็นเพียงความคิดนึก ถ้าผู้นั้นยังไม่สามารถประจักษ์แจ้งสภาพธรรมนั้นๆ ถูกต้องตามความเป็นจริงได้

เราควรคึกษาพระธรรมด้วยศรัทธาและวิริยะ เพื่อความเจริญของสติ สมาธิและปัญญาเพื่อเป็นอินทรีย์ เพื่อเป็นพละ ให้สติปัฏฐานเจริญขึ้น สมบูรณ์ขึ้นและมั่นคงขึ้นจนเป็นปรกติ

ขออนุโมทนาในศรัทธาของทุกท่านที่เห็นคุณของพระธรรมและความเพียรที่จะศึกษาพระธรรมต่อไปค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ