ความแตกต่างของมานะและสมานัตตา?

 
สามารถ
วันที่  24 ก.ค. 2552
หมายเลข  12983
อ่าน  2,177

มานะและสมานัตตาต่างกันอย่างไรครับแม้เราจะเข้าใจว่ามีความต่างกันแล้วในสภาพที่เป็นกุศลหรืออกุศลแต่หากไม่มีความรู้ก็ยังยากที่จะบอกได้ว่า การเห็นว่าเขาก็เสมอกับเรา เขาก็ไม่ต่าง อะไรจากเรา (เช่น มีเกิด แก่ เจ็บ และต้องตายเหมือนกัน เป็นต้น) นี้เป็นธรรมะข้อใด ขอผู้มีความรู้ได้อธิบายเพิ่มความเข้าใจครับเพื่อเป็นเหตุให้สติสัมปชัญญะสามารถเกิดขึ้นระลึกถึงลักษณะของธรรมได้ถูกต้องครับขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 24 ก.ค. 2552
มานะ คือความถือตัว สำคัญตน ยกตน ข่มผู้อื่น สมานัตตตา คือ ความวางตนเสมอ ไม่ถือตัว และรวมถึงผู้มีคุณธรรมเสมอกันในชีวิตประจำวันถ้าเราเห็นเพื่อนร่วมโลก เป็นผู้ที่ต้อง แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกันแล้วมีเมตตาต่อกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน จิตขณะนั้นก็เป็นสภาพจิตที่ดีงาม ไม่ต้องใส่ชื่อก็ได้ครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 ก.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มานะ ในทางโลกเข้าใจกันว่าเป็นความพยายามบากบั่นขยันหมั่นเพียร แต่ในทางธรรมแล้ว มานะ เป็นความสำคัญตน เป็นความทะนงตน ถือตน เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง กล่าวคือ เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต ผู้ที่จะดับมานะได้อย่างเด็ดขาด ต้องเป็นพระอรหันต์เท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ยังคงมีมานะ แต่ก็ย่อมมีความหยาบ ความเบาแตกต่างกันออกไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอกุศลในชีวิตประจำวันมีมากจริงๆ และไม่ใช่เฉพาะมานะเท่านั้น ยังมีอกุศลธรรมประเภทอื่นอีกมากมายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จึงควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญเพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง และไม่เดือดร้อนกับอกุศลธรรมที่เกิดขึ้น สมานัตตตา (ความเป็นผู้มีตนเสมอ) หมายถึง เสมอกันด้วยคุณธรรม คือ ด้วยธรรมฝ่ายดี เช่น เสมอกันโดยศีล เป็นต้น ไม่ใช่ว่าเสมอกันด้วยอกุศลธรรม สมานัตตตาเป็นธรรมเครื่องสงเคราะห์ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจคนอื่น เพราะขณะนั้น เป็นผู้วางตนสม่ำเสมอ ไม่ถือตัว ครับ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 118

บทว่า สมานตฺตตา คือความเป็นผู้มีสุขมีทุกข์เสมอกัน. จริงอยู่บุคคลบางคน

ย่อมไม่หวังสังคหวัตถุมีทานเป็นต้น แม้แต่อย่างหนึ่ง หากหวังความร่วมสุขร่วมทุกข์

อย่างนี้ คือนั่งบนอาสนะเดียวกัน นอนบนเตียงเดียวกัน บริโภคร่วมกัน. ถ้าเขาเป็น

คฤหัสถ์ย่อมเสมอกันโดยชาติ บรรพชิตย่อมเสมอกันโดยศีล ความวางตนสม่ำเสมอนี้

ควรทำแก่บุคคลนั้น. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 24 ก.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
suwit02
วันที่ 25 ก.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
noynoi
วันที่ 25 ก.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
คุณ
วันที่ 25 ก.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วันใหม่
วันที่ 25 ก.ค. 2552

หาชื่อ..แต่กำลังมีในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นการพูดในเรื่องสภาพธรรมใด ไม่ควรลืมว่าอยู่ในชีวิตประจำวันเพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง มานะมีจริง ขณะใดที่เปรียบเทียบ

มานะเป็นการเปรียบเทียบคือดีกว่า เสมอกันหรือต่ำว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์ เรื่องตระกูล เรื่องความรู้ เป็นต้น เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ให้ขอทานเห็นว่าเขาต่ำกว่าจึงให้ มีมานะไหม แต่คนละขณะกับจิตที่ให้ที่เป็นกุศล

ลูกโป่งลอยสูง แต่ข้างในว่างเปล่าฉันใด มานะก็ยกตนให้สูงขึ้น แต่ข้างในว่างเปล่าจากกุศลธรรม

สมานัตตา ความเป็นผู้วางตนเสมอ ซึ่งก็หลายระดับจากเพียงขั้นพื้นฐานจนสูงสุด ไม่ควรลืมกลับมาอีกครั้งคือเป็นไปในชีวิตประจำวัน แม้แต่สมานัตตาชีวิตประจำวัน

อย่างไร...ไม่ชอบใคร เขาทำอาหารให้ แต่ไม่ยอมทาน เพราะไม่ชอบเขา มีตนเสมอกับ

เขาไหม กุศลจิต กับอกุศลจิต เสมอกันไหม และสมานัตตาในระดับสูง กุศลย่อมเสมอ

กับกุศล คุณธรรมของพระโสดาบัน เสมอกับปุถุชนไหม ไม่ใช่สมานัตตาแน่นอน ดังนั้น

คุณธรรมของพระโสดาบันกับพระโสดาบันจึงเสมอกันเป็นสมานัตตา จนถึงสูงสุด

คุณธรรมของพระอรหันต์เสมอกันกับพระอรหันต์ เป็นสมานัตตาสูงสุด ดังนั้นความต่างของมานะกับสมานัตตาคือ มานะเป็นอกุศล สมานัตตาเป็นธรรมฝ่ายดี มานะมีการเปรียบเทียบ ไม่มีความเสมอกันด้วยกุศลธรรม สมานัตตา การวางตนเสมอเพราะเสมอในคุณธรรมและเสมอกันเพราะพิจารณาตามความเป็นจริงสุดท้าย ไม่ควรลืมว่าคือขณะนี้ ในชีวิตประจำวัน แม้มานะและสมานัตตาก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 26 ก.ค. 2552

มานะเป็นอกุศล เป็นความสำคัญตน ส่วนสมานัตตตาเป็นกุศล เป็นคุณธรรมที่ทำให้ผูกมิตรได้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Jans
วันที่ 28 ก.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
สามารถ
วันที่ 28 ก.ค. 2552

ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
มกร
วันที่ 10 ก.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
talaykwang
วันที่ 30 ม.ค. 2566

ยินดี​ในกุศล​ยิ่งค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ